แพทย์เผยข้อมูล ‘NeoCoV’ โควิดชนิดใหม่ พัฒนาเข้าเซลล์ของมนุษย์ แถมรุนแรงกว่าเดิม 3 เท่า หวั่นเกิดการระบาดโควิด 22
นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา เปิดข้อมูลเกี่ยวกับ “NeoCoV” หรือไวรัสโคโรนาชนิดใหม่ในเว็บไซต์ Blockdit ภายใต้ชื่อ “ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย” ระบุ พบโคโรนาไรวัสชนิดใหม่ (NeoCoV) เข้าเซลล์มนุษย์ได้ ลักษณะคล้ายไวรัสก่อโรค MERS ซึ่งรุนแรงกว่า SARS 3 เท่าตัว
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอู่ฮั่น ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร BioRxiv ได้ค้นพบโคโรนาไวรัส (Corona Virus) ชนิดใหม่ในค้างคาวที่ประเทศแอฟริกาใต้ เรียกชื่อว่า NeoCoV โดยมีลักษณะสารพันธุกรรมที่ใกล้เคียงมากกับไวรัสก่อให้เกิดโรค MERS มาก จนมีโอกาสที่จะเรียกว่า MERS-CoV-2 ซึ่งไวรัสโคโรนาลำดับ 7 ที่ก่อโรคโควิด-19 (Covid-19) ในปัจจุบัน ก็มีสารพันธุกรรมที่ใกล้เคียงมากกับไวรัสก่อโรค SARS จนเรียกว่า SARS-CoV-2 มาแล้ว
ตามเว็บไซต์อินดิเพนเดนท์รายงาน NeoCoV ไม่ใช่เรื่องใหม่ เนื่องจากถูกค้นพบครั้งแรกในปี 2555 และ 2558 ในประเทศตะวันออกกลาง มีความคล้ายคลึงกันอย่างน่าทึ่งกับ SARS-CoV-2 (ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่) ในมนุษย์ ซึ่งองค์การอนามัยโลกบอกกับสำนักข่าว TASS ของรัสเซีย “ไม่ว่าไวรัสที่ตรวจพบในการศึกษาจะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อมนุษย์หรือไม่ จะต้องเร่งศึกษาหาข้อมูลอย่างใกล้ชิดโดยเร็วต่อไป เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่มากขึ้น”
นพ.เฉลิมชัยเผย สาเหตุที่การค้นพบครั้งนี้ จึงเป็นเรื่องใหญ่ และเป็นที่ตื่นเต้นกันมาก ตลอดจนมีความจำเป็นที่จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่า ไวรัสสายพันธุ์ใหม่จะทำให้เกิดผลกระทบกับมนุษยชาติอย่างไร ดังนี้
ไวรัสก่อโรคโควิด 19 เป็นไวรัสตระกูลโคโรนาลำดับที่ 7 ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับไวรัสก่อโรค SARS ที่เป็นไวรัสโคโรนาลำดับ 5 มาก จึงตั้งชื่อว่า SARS-CoV-2
โรค SARS นั้น มีความรุนแรงน้อยกว่า MERS ถึง 3 เท่า โดยมีอัตราการเสียชีวิต 10% ในขณะที่โรค MERS เสียชีวิตมากถึง 30%
ไวรัสก่อโรค MERS เป็นไวรัสโคโรนาลำดับที่ 6
ไวรัสตระกูลโคโรนาที่ก่อโรคในมนุษย์ที่ผ่านมา ได้แก่ ลำดับที่ 1 – 4 ก่อให้เกิดโรคหวัด ลำดับที่ 5 ก่อให้เกิดโรค SARS ลำดับที่ 6 ก่อให้เกิดโรค MERS ลำดับที่ 7 ก่อให้เกิดโรค COVID-19
ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่เรียกว่า NeoCoV ที่พบในค้างคาวครั้งนี้ เกิดไปมีลักษณะใกล้เคียงกับ MERS มาก และมีโอกาสที่จะถูกตั้งชื่อว่า MERS-CoV-2 ถ้าก่อโรคในมนุษย์ได้จริง คือเป็นไวรัสโคโรนาก่อโรคในมนุษย์ลำดับที่ 8
ความน่าเป็นห่วงก็คือ ไวรัสที่อยู่ในค้างคาวอาจจะไม่ก่อโรคในมนุษย์ ถ้าไม่สามารถจับและเข้าไปในเซลล์มนุษย์ได้ แต่ไวรัสใหม่ที่ค้นพบนี้บังเอิญสามารถจับกับหน่วยรับ ACE-2 แล้วเข้าเซลล์ร่างกายมนุษย์ได้ จึงมีความกังวลว่า ไวรัสใหม่นี้อาจจะก่อโรคแบบ COVID-19 (Corona Virus Disease 2019) ได้ และอาจจะรุนแรงกว่า COVID-19
รายละเอียดเกี่ยวกับโรค SARS และ MERS
SARS ระบาดในปี 2003 (พ.ศ. 2546) มีผู้เสียชีวิต 10%
MERS ระบาดในปี 2012 (พ.ศ. 2555) มีผู้เสียชีวิต 30%
COVID-19 ระบาดในปี 2019 (พ.ศ. 2562) เริ่มต้นมีเสียผู้เสียชีวิต 5% ปัจจุบันผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 1.53% โดยมีผู้เสียชีวิต 5.67 ล้านคน จากผู้ติดเชื้อ 371 ล้านคน
ถ้าไวรัสโคโรนาชนิดใหม่ สามารถก่อให้เกิดโรคในมนุษย์ขึ้นมาได้จริง ก็อาจเรียกชื่อว่า COVID 22 ซึ่งหากคำนวณตามสัดส่วนของโรค SARS และ MERS ที่รุนแรงขึ้น 3 เท่า ก็อาจจะทำให้ COVID-22 มีผู้เสียชีวิตมากกว่า COVID-19 ถึง 3 เท่า เช่น ในปัจจุบัน โควิด-19 เสียชีวิต 5.67 ล้านคน ถ้าเป็นโควิด-22 ก็จะเสียชีวิตมากถึง 17 ล้านคน
อย่างไรก็ตาม นพ.เฉลิมชัยกล่าวว่า เรื่องดังกล่าวนี้ยังมีความไม่แน่นอนส่วนหนึ่ง ที่จำเป็นจะต้องศึกษาค้นคว้ากันอย่างเร่งรีบ ซึ่งองค์การอนามัยโลก ได้ร่วมกับหน่วยงานระดับโลกอีกหลายหน่วยงาน เช่น องค์การระดับโลกเรื่องสุขภาพสัตว์ องค์การอาหารและเกษตรโลก ตลอดจนโครงการสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติ เพื่อที่จะรีบหาข้อมูล และสรุปให้ได้โดยเร็วที่สุดว่า ไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ มีโอกาสก่อโรคโควิดในมนุษย์มากน้อยเพียงใด
ขอบคุณที่มาจาก Blockdit Deseret Independent