ดูถ่ายทอดสด "อัพเดตทุกเรื่องราวข่าวสารวงการไก่ชน ดูถ่ายทอดสดไก่ชน ครบทุกสนาม ทีเด็ดไก่ชน อัพเดทข่าวไก่ชนทุกประเด็นที่น่าสนใจ แหล่งความรู้สาระเรื่องที่เป็นประโยชน์ผู้เลี้ยงไก่ชน"

ไฮไลท์ไก่ชนล่าสุด

B1
ADS B2
ADS B3
ADS B4
หน้าหลัก ข่าวสารไก่ชน ข่าวไก่ชนออนไลน์ ไก่สวยซุ้มดัง “ไก่แจ้ดาดฟ้าชุมพร” เลี้ยงเป็นงานอดิเรก ทำตลาดออนไลน์ สร้างรายได้ตลอดปี

“ไก่แจ้ดาดฟ้าชุมพร” เลี้ยงเป็นงานอดิเรก ทำตลาดออนไลน์ สร้างรายได้ตลอดปี

วันพฤหัสบดี 11 พฤศจิกายน 2564 ยอดเข้าชม 371
SHARE ON:

 

 

“ไก่แจ้ดาดฟ้าชุมพร” เลี้ยงเป็นงานอดิเรก ทำตลาดออนไลน์ สร้างรายได้ตลอดปี

“เลี้ยงไก่แจ้ไม่ซับซ้อน แต่ต้องทำความเข้าใจ ทุกคนอยากได้ลูกไก่ที่สามารถนำไปเป็นพ่อ-แม่พันธุ์ในราคาที่ถูก แต่ลูกไก่เหล่านั้นจะเจริญเติบโตไปได้เท่าไรก็ไม่รู้ เพราะการเลี้ยงไก่แจ้มีหลายแง่มุมให้ศึกษา เมื่อเข้าใจแล้วจะง่าย”

 

คุณกนกศักดิ์ รัตนวงศ์ หรือ คุณตั้ม เกษตรกรเลี้ยงไก่แจ้ อาศัยอยู่ที่ตำบลท่าตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร นำความชื่นชอบในการเพาะเลี้ยงไก่แจ้มาประยุกต์ต่อยอดเป็นกิจกรรมสร้างรายได้ โดยใช้เวลาว่างจากงานประจำมาดูแลสัตว์เลี้ยงคู่ใจ ภายใต้ปณิธานมุ่งมั่นพัฒนาสายพันธุ์ไก่แจ้ทั้งสีกระดำ สีกระโกโก้ สีดอกหมาก และสีทอง ผ่านการทำตลาดออนไลน์ชูจุดเด่นด้วยสถานที่เลี้ยงบนดาดฟ้า เรียกความสนใจจากลูกค้าได้เป็นอย่างดี ผสานกับความเอาใจใส่ติดตามให้คำแนะนำอยู่เสมอจนได้รับเสียงการันตีถึงคุณภาพจากกลุ่มผู้เลี้ยงไก่แจ้

 

คุณกนกศักดิ์ รัตนวงศ์ หรือ คุณตั้ม


คุณกนกศักดิ์ เล่าว่า ปัจจุบันตนเองอายุ 40 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะประมง วิชาเอกวิทยาศาสตร์ทางทะเล แล้วได้เริ่มต้นประกอบอาชีพส่วนตัวในจังหวัดชุมพร จนวันหนึ่งครอบครัวเริ่มสุขสบายและมีเวลาส่วนตัวมากขึ้น จึงหันมาให้ความสำคัญกับงานอดิเรกที่รัก คือการเลี้ยงสัตว์ เริ่มจากเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ด้วยพื้นฐานจบคณะประมงจึงมีความถนัดทางด้านนี้ แต่ภายหลังจากเลี้ยงปลามาได้ประมาณ 10 ปี ได้ประสบปัญหา เนื่องจากปลามีจำนวนมากกว่า 10 ตู้ และต่างชนิดกัน มีความยุ่งยากในการดูแล กอปรกับการเลี้ยงปลานำไปต่อยอดในเชิงธุรกิจได้ค่อนข้างยาก เพราะพ่อค้าคนกลางมีจำนวนมาก ต้นทุนในการจัดการฟาร์มที่ค่อนข้างสูงจึงไม่เหมาะกับเกษตรกรรายย่อย

แต่ด้วยเป็นผู้ที่ชื่นชอบในการเลี้ยงสัตว์ ทั้งเต่า นก ปลา และไก่ ส่งผลให้ได้ทดลองเลี้ยงสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะไก่แจ้มีราคาต้นทุนไม่สูงมากนัก เหมาะกับนักเลี้ยงหน้าใหม่ ผนวกกับพ่อ-แม่พันธุ์มีราคาที่ถูกกว่าปลา แม้ระหว่างทางอาจมีการสูญเสียเหมือนกัน แต่ในแง่ของการลงทุนแล้วไก่แจ้มีความคุ้มค่ากว่า พ่อ-แม่พันธุ์ 1 คู่ สามารถนำมาต่อยอดได้ทันทีเพราะเป็นผู้ผลิตด้วยตนเอง อีกทั้งยังไม่ต้องแข่งขันกับใคร เพียงแต่แข่งขันกับตนเอง ไม่ต้องเลี้ยงในจำนวนที่มาก หากมุ่งทำตลาดใหญ่จนเกินไปก็มีลูกไก่แจ้ไม่เพียงพอต่อการจำหน่าย

สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ไก่แจ้เป็นสัตว์ที่มีความสวยงามโดดเด่นด้วยตัวเอง โดยผู้เลี้ยงไม่ต้องไปปรุงแต่ง มองแล้วสบายตา ส่งผลให้มีการจัดงานประกวดไก่แจ้ขึ้นเพื่อเป็นการกระตุ้นให้คนซื้อไก่โดยอัตโนมัติ พร้อมทั้งสร้างนักเพาะเลี้ยงและพัฒนาสายพันธุ์ไก่แจ้ที่มีความสามารถเพิ่มขึ้นอยู่ตลอด โดยกลุ่มหรือสมาคมต่างๆ ที่จัดประกวดจะมีการเวียนจัดงานขึ้น ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดในภูมิภาคต่างๆ อยู่ตลอดปี เพราะฉะนั้น ตลาดไก่แจ้จึงเติบโตขึ้นเรื่อยๆ

 


ไก่แจ้สีทอง


ค้นหาไก่แจ้สายพันธุ์ดี
การเสาะหาลูกไก่แจ้เพื่อนำมาเพาะเลี้ยงสามารถทำได้หลายวิธี ทั้งการสั่งซื้อจากฟาร์มเลี้ยงผ่านช่องทางออนไลน์และไปหาซื้อยังฟาร์มเพาะพันธุ์โดยตรง แต่ก็ต้องคำนึงถึงความต้องการของตัวผู้เลี้ยงเป็นสำคัญว่าต้องการเพาะเลี้ยงไก่แจ้ในโทนสีใด ซึ่งจะส่งผลให้สามารถทำการเลี้ยงได้ในระยะยาวโดยไม่เบื่อหน่ายง่ายๆ นั่นเอง

“ในช่วงแรกที่เลี้ยงไก่แจ้ใช้วิธีการสั่งซื้อลูกไก่แจ้จากฟาร์มเพาะพันธุ์ที่มีการประกาศลงขายในเฟซบุ๊ก โดยเลือกที่มีความน่าเชื่อถือมากที่สุด แต่โดยธรรมชาติแล้วไก่แจ้นั้นมีหลายสี ช่วงแรกเราอาจจะรู้สึกชอบไปเสียทั้งหมด อยากเลี้ยงทุกสี ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติของคนเลี้ยง แต่เมื่อเลี้ยงไประยะหนึ่งจะเริ่มรู้ว่าสีใดที่ถูกโฉลกมากที่สุด โดยส่วนมากแล้วผู้เลี้ยงมักมีความต้องการลูกไก่แจ้ตัวผู้ 1 ตัว และตัวเมีย 2 ตัว ซึ่งทั้งหมดจะต้องมีขาที่สั้น นับเป็นคุณสมบัติอันโดดเด่นของไก่แจ้ที่หลายคนให้ความสำคัญ

แต่ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการที่ไก่แจ้มีขาที่สั้นนั้นคือ ยีนด้อย เพราะไก่แจ้กำเนิดมาจากการผสมพันธุ์แบบเลือดชิด ไม่เหมือนสัตว์ชนิดอื่น อาศัยการผสมพันธุ์กันในระหว่างพี่-น้อง พ่อ-แม่ เพื่อให้ได้ลักษณะทางพันธุกรรมที่ใกล้เคียงกันมากที่สุด ทั้งจากขาสั้น ตัวกลม เตี้ย เหล่านี้ในทางวิทยาศาสตร์ ถือเป็นยีนด้อย แต่คนเรากลับมากะเกณฑ์กันเองว่า ลักษณะแบบนี้คือสวยงาม เพราะฉะนั้น สิ่งที่ต้องแลกมากับความสวยงามของไก่แจ้คือ ความอ่อนแอโดยกำเนิด ส่งผลให้มีอัตราการตายสูงในระหว่างเพาะเลี้ยง หรือเติบโตมาแล้วมีโทนสีที่ถูกต้องเข้าตามตำราได้ค่อนข้างยาก

 


ไก่แจ้สีดอกหมาก


ยิ่งในกรณีที่เลี้ยงเอาไว้เข้าคู่ในจำนวนมาก เมื่อมีไก่แจ้ตัวผู้หรือตัวเมียตายลงไปต้องหาตัวใหม่เสริมเข้าคู่อยู่ตลอด โดยเฉพาะสีที่สวยเป็นที่ต้องการของตลาดยิ่งมีราคาสูง เปรียบเป็นราคาที่ต้องแลกมากับความสวยงาม เพราะฉะนั้น การซื้อลูกไก่แจ้ที่มีราคาถูกเพื่อหวังนำมาเป็นพ่อ-แม่พันธุ์ ในอนาคตอาจไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง แต่ควรเลือกลงทุนพ่อ-แม่พันธุ์ 1 คู่ แล้วนำมาเลี้ยงประมาณ 1 เดือน จนได้ลูกไก่ออกมาถือเป็นคำตอบที่ดีกว่า โดยราคาเฉลี่ยของลูกไก่แจ้ 1 คู่ มีราคาประมาณ 1,000 บาท ส่วนราคาไก่แจ้พ่อ-แม่พันธุ์ 1 คู่ มีราคาตั้งแต่ 2,500-3,500 บาท ขึ้นไป ซึ่งระดับราคาที่แตกต่างกันมากนี้ถือเป็นแรงจูงใจให้ผู้เลี้ยงตัดสินใจเลือกเพาะเลี้ยงลูกไก่แจ้มากกว่าการซื้อพ่อ-แม่พันธุ์โดยตรง”

 

แนวทางอนุบาลลูกไก่แจ้ในกรงคอนโดฯ


การเลี้ยงไก่แจ้หากผู้เพาะเลี้ยงอาศัยอยู่ในย่านชุมชนหรืออาคารพาณิชย์ แล้วมีสถานที่เพาะเลี้ยงไม่เอื้ออำนวย อาจเลือกใช้วิธีเพาะเลี้ยงในรูปแบบกรงคอนโดฯ ซึ่งประหยัดพื้นที่ ง่ายต่อการจัดการ และดูแลความสะอาดได้ง่าย

“การเลือกใช้กรงเลี้ยงไก่แบบคอนโดฯ จะเหมาะสำหรับผู้ที่มีพื้นที่เพาะเลี้ยงจำกัด โดยเฉพาะผู้ที่เพาะเลี้ยงไก่แจ้ในอาคารพาณิชย์ก็สามารถใช้พื้นที่ดาดฟ้าในการเพาะเลี้ยงได้ ซึ่งเป็นสาเหตุให้ตั้งชื่อฟาร์มแห่งนี้ว่า “ไก่แจ้ดาดฟ้าชุมพร” เพราะใช้พื้นที่บนดาดฟ้าในการเพาะเลี้ยง แต่มีหลังคาติดตั้งเอาไว้เพื่อกำบังแดด ด้านข้างเปิดโล่ง ส่วนไก่อยู่ในกรงคอนโดฯ มีลักษณะตัวกรงสี่เหลี่ยมตั้งเรียงต่อกัน ขึ้นอยู่กับว่าผู้เลี้ยงต้องการใส่ลูกไก่แจ้จำนวนเท่าใดในแต่ละช่อง ในช่วงที่ลูกไก่แจ้มีขนาดเล็กสามารถเลี้ยงรวมกันได้ เมื่อถึงวัยผสมพันธุ์อาจแยกอีกทีหนึ่ง


ไก่แจ้วัยอนุบาล (ไก่เล็ก)
โดยลูกไก่แจ้ในช่วงแรกที่นำมาอยู่ในกรงคอนโดฯ ผู้เลี้ยงควรติดตั้งโคมไฟ (หลอดไส้) เพื่อเพิ่มความอบอุ่นภายในกรง ให้ลูกไก่แจ้ได้กกไฟ แล้วแต่ว่าจะจัดวางในตำแหน่งใด อาจเลือกติดตั้งไว้ด้านหลังกรงเพื่อให้ไก่แจ้เดินเล่นบริเวณด้านหน้ากรง หรือห้อยลงมาได้เช่นกัน ส่วนการเปิดไฟถ้าเป็นลูกไก่แจ้ในช่วงอนุบาลควรเปิดให้อยู่ตลอด อาจถึงช่วงไก่แจ้อายุ 3 เดือน เนื่องจากไก่แจ้แรกเกิดมีความอ่อนแอสูง เราไม่สามารถทราบได้ว่าลูกไก่แจ้เหล่านี้มีความแข็งแรงหรือไม่ตอนอยู่ในฟาร์มเพาะพันธุ์ จนกระทั่งส่งมอบให้แก่ลูกค้าซึ่งควรมีอายุไม่น้อยกว่า 3 เดือน

การให้อาหารในช่วงอนุบาลลูกไก่ ควรให้อาหารสำเร็จรูปสำหรับไก่พื้นบ้าน (รำข้าว) ซึ่งจะถูกแบ่งเอาไว้ทั้งไก่แรกเกิด, ไก่รุ่น, ไก่โต ต้องดูตามความเหมาะสม เสริมด้วยการให้อาหารตามธรรมชาติ เช่น ธัญพืช, หญ้า นำมาปั่นละเอียดแล้วใส่ลงไปในอัตราที่เหมาะสม หรือเลือกให้อาหารสำเร็จรูปแต่เพียงอย่างเดียว ส่วนในกรณีที่เป็นไก่รุ่นอาจมีการบำรุงด้วยสูตรเฉพาะตัว นำอาหารนกหงส์หยก เมล็ดข้าวฟ่าง หรือข้าวเปลือกนกเขา มาผสมรวมลงไป ส่วนรอบของการให้อาหารอาจให้วันละ 2 รอบ เช้า-เย็น แต่ปัจจุบันลดเหลือวันละ 1 รอบ ในช่วงเช้า เนื่องจากความสะดวกของตัวผู้เลี้ยงเอง

อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงไก่แจ้บนดาดฟ้านั้นก็มีความยุ่งยากอยู่บ้าง โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนซึ่งไก่จะต้องเจอทั้งฝนและลม สามารถป้องกันได้ด้วยการติดตั้งผ้าใบกันลม หรือป้ายไวนิลที่เหลือใช้แล้ว นำมาปิดไว้บนฝากรง ในกรณีที่เป็นไก่เล็กควรปิดคลุมกรงแล้วเปิดไฟเพิ่มความอบอุ่นอยู่โดยตลอดในช่วงหน้าหนาว เมื่อพ้นระยะ 3 เดือนไปแล้วจะเริ่มเข้าสู่ช่วงไก่รุ่น มีความพร้อมสำหรับการเดินทางขนส่งข้ามจังหวัด สามารถจำหน่ายได้แล้ว ส่วนตัวจะแนะนำให้ลูกค้าเลือกไก่แจ้ที่มีอายุ 3 เดือนขึ้นไป ซึ่งไก่แจ้จะเริ่มจับคู่ได้และมองเห็นฟอร์มว่าสวยขนาดไหน จะตั้งราคาในระดับใด จัดเป็นเกรดประกวด หรือเกรดเลี้ยงเล่นเพื่อความสวยงาม”


ไก่แจ้สีกระเทา
ไก่แจ้มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหรือไม่
เนื่องจากไก่แจ้มีการผสมพันธุ์กันแบบเลือดชิดส่งผลให้มีภูมิต้านทานต่อโรคต่ำ ผู้เลี้ยงจึงต้องให้ความสำคัญกับการดูแลไก่แจ้ตั้งแต่ในช่วงวัยอนุบาล จนกระทั่งเข้าสู่ช่วงไก่รุ่นพร้อมสำหรับการขยายพันธุ์

“ช่วงอนุบาลลูกไก่แจ้ (ไก่เล็ก) อาจมีการบดปั่นอาหารเพิ่มให้ เพราะไก่ไม่สามารถจิกกินอาหารสำเร็จรูปได้ เนื่องจากเมล็ดมีขนาดใหญ่ส่งผลให้ร่างกายอ่อนแอ ป่วยตาย ต้องนำไปใส่เครื่องปั่นให้ละเอียดเพื่อให้ไก่จิกกินได้ง่าย เสริมด้วยวิตามินแบบน้ำที่มีความเข้มข้นสูง หยดไปผสมกับอาหาร (วิตามินสำหรับสัตว์เลี้ยง) สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง เพื่อให้ไก่สมบูรณ์ แม่ไก่ไข่ดก ส่วนในกรณีที่ไก่ป่วยก็ต้องแยกออก แล้วใช้ยาปฏิชีวนะผสมลงในอาหาร หรือเลี่ยงมาใช้วิธีป้อนยาเข้าทางช่องปากโดยตรง

สำหรับความเสี่ยงต่อการเป็นโรคของไก่แจ้จะพบมากในช่วงอนุบาลคือ โรคหลอดลมอักเสบ ส่วนที่พบในช่วงไก่โตคือ โรคนิวคาสเซิล ต้องใช้วัคซีนตัวเดียวกันในการรักษา ผู้เลี้ยงต้องเข้าใจว่าวัคซีนไม่ใช่ยาแต่เปรียบเสมือนการใส่เชื้อโรคเข้าไปในตัวไก่ในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันเข้ามากำจัดเชื้อโรคหากต้องพบในวันหน้า แต่ควรจะเน้นให้ไก่แจ้สร้างภูมิคุ้มกันได้ด้วยตนเอง นอกจากนี้แล้ว ยังมีโรคฝีดาษ ซึ่งต้องใช้วัคซีนฝีดาษในการรักษา โรคนี้เกิดจากยุงเป็นพาหะนำโรค ผู้เลี้ยงสามารถป้องกันได้โดยไม่ต้องใช้วัคซีนเพียงแต่ใช้ไฟช่วยในการไล่ยุง และไม่ปล่อยให้ไก่นอนตามกิ่งไม้ หรือต้นไม้ตามธรรมชาติ

ในผู้เลี้ยงบางรายอาจเลือกให้วัคซีนตามตารางวัคซีนได้เช่นกัน อาทิ ไก่แจ้อายุ 7 วัน ควรให้วัคซีนหยอดจมูกป้องกันโรคนิวคาสเซิลและหลอดลมอักเสบ ก่อนจะฉีดอีกครั้งตามที่มีการระบุไว้เมื่อครบอายุ แต่ในทางปฏิบัติวัคซีนหาได้ยากและมีราคาสูง เมื่อต้องใช้กับลูกไก่ในปริมาณที่มากก็ไม่คุ้มค่า ส่วนฟาร์มแห่งนี้มีไก่ต่อรอบที่ได้มาประมาณ 7-8 ตัว จึงไม่ได้นำวัคซีนเข้ามาใช้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับความจำเป็นและความสะดวกของผู้เลี้ยงในแต่ละราย”

 


ตู้ฟักไข่ไก่แจ้ (ตู้อินคูเบเตอร์)


คัดพ่อพันธุ์ไก่แจ้ เน้นเลือกตัวผู้ขายาว
“ด้วยรูปทรงของไก่แจ้มีลักษณะเตี้ยและผสมพันธุ์แบบเลือดชิดส่งผลให้น้ำเชื้อยังคงไม่แข็งแรง เมื่อถูกนำไปผสมตั้งแต่อายุ 6 เดือน จะผสมไม่ติด เพราะฉะนั้น ตัวผู้จะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 9-10 เดือน หากเป็นไก่แจ้ขายาวอาจผสมได้ตั้งแต่อายุประมาณ 6-7 เดือน ขึ้นอยู่กับความสามารถของไก่แจ้ตัวผู้ ส่วนไก่แจ้ตัวเมียอายุประมาณ 6-7 เดือน เริ่มไข่ซึ่งพร้อมสำหรับผสมพันธุ์ หากอายุน้อยกว่านั้นไม่ควรนำมาผสม

การผสมพันธุ์ไก่แจ้จะเน้นหนักไปที่ตัวผู้เป็นหลัก แต่ในกรณีที่ตัวผู้ทรงเตี้ยมากเมื่อนำมาผสมกับตัวเมียจนมีไข่ออกมาจะมีเปอร์เซ็นต์ในการติดลูกน้อย ซึ่งฟาร์มขนาดใหญ่จะนิยมใช้พ่อพันธุ์ไก่แจ้ที่มีขายาว ฟาร์มแห่งนี้ก็เลือกใช้พ่อพันธุ์ไก่แจ้ขายาวเช่นเดียวกัน ด้วยคุณลักษณะที่มีภูมิต้านทานโรคสูง ผสมติดง่าย แม้จะใช้ตัวเมีย 4-5 ตัวก็สามารถผสมติดหมด แล้วภายหลังจึงมาคัดเลือกลูกเอาอีกครั้งหนึ่ง

ส่วนการคัดเลือกพ่อ-แม่พันธุ์ไก่แจ้จะอ้างอิงจากตำราของกรมวิชาการเกษตรซึ่งอธิบายถึงวิธีการคัดเลือกพ่อ-แม่พันธุ์ไก่แจ้ในแต่ละสีเอาไว้ โดยไก่แจ้ที่มีลักษณะดีควรมีจักรหงอน 4-5 จักร เรียงตรงสวยงาม เม็ดทรายบริเวณหงอนมีขนาดใหญ่เรียบลื่น ใบหน้าดูโดดเด่น ไก่ต้องมีขาสั้นไม่เกิน 1 ข้อนิ้ว ลำตัวมีรูปทรงกลมเตี้ย หางบาน โทนสีจะต้องสวยชัดเจนถูกต้องตรงตามหลักของสายพันธุ์นั้นๆ จึงจัดเป็นไก่แจ้ที่สวยงามเหมาะแก่การนำมาเป็นพ่อ-แม่พันธุ์ สำหรับฟาร์มแห่งนี้จะเน้นคัดสีหลักๆ ประมาณ 4 สี ได้แก่ สีกระดำ, สีกระโกโก้, สีดอกหมาก และสีทอง”

 

เพาะพันธุ์ไก่แจ้ ไม่ยากอย่างที่คิด
“เมื่อได้พ่อ-แม่พันธุ์ไก่แจ้มาแล้วจะต้องนำมาเลี้ยงรวมกันเพื่อเข้าคู่ ไก่แจ้จะผสมพันธุ์กันเองแล้วตกไข่ แต่อัตราเฉลี่ยของไข่ที่ผสมติดอาจไม่แน่นอนแม้ว่าจะใช้พ่อพันธุ์ไก่แจ้ขายาวก็ตาม เนื่องด้วยเกิดจากการคัดสรรตามธรรมชาติ ส่วนไข่ที่ได้จะนำเข้าสู่ตู้ฟักไข่อัตโนมัติ (อินคูเบเตอร์) โดยที่แม่ไก่ไม่ต้องกกไข่จึงมีร่างกายที่แข็งแรงสามารถไข่ได้เรื่อยๆ พอหมดรอบก็ใช้ชีวิตได้ตามปกติ รอบไข่ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของตัวเมียและช่วงอายุหากเป็นไก่สาวจะออกไข่ได้ดี

ถึงแม้เราจะนำไข่เข้าตู้ฟักแต่ก็ไม่ได้การันตีว่าไข่จะมีเชื้อทุกตัว ต้องทดลองส่องไฟในช่วงกลางคืนตรวจสอบดูว่าเชื้อเดินปกติหรือไม่ หรือใช้วิธีการนำไข่ชุดแรกใส่เข้าไปในถาดรองฟักไข่ด้านล่างก่อนประมาณ 10 ฟอง เมื่อตรวจสอบพบว่าไข่ใบใดมีเชื้อจึงนำขึ้นมาวางบนถาดด้านบนแล้วเขียนวันที่ 1 เอาไว้ ครบ 5 วัน จึงมาตรวจสอบอีกครั้ง หากพบไข่ใบใดไม่มีเชื้อสามารถนำออกได้ทันที ส่วนที่รอดทั้งหมดจะไปฟักตัวในวันที่ 21 ภายหลังจากฟักตัวแล้วจะต้องพักให้อยู่ในตู้ฟักอีกประมาณ 1-2 วัน เพราะไก่แจ้แรกเกิดมีไข่แดงเป็นอาหารอยู่ในท้องจึงไม่ต้องการอาหารใดๆ แต่ควรปล่อยให้ตัวไก่แห้ง และแข็งแรงเสียก่อนจึงค่อยนำออกมาจากตู้ฟัก

เมื่อนำไก่แจ้ออกมาจากตู้ฟักแล้วจึงนำมาพักไว้ในลังโฟมที่เจาะเป็นรูเพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก หรือแล้วแต่ความสะดวกของผู้เลี้ยง ก่อนจะติดตั้งหลอดไส้เอาไว้เพื่อเพิ่มความอบอุ่นให้กับไก่แรกเกิด ส่วนอาหารจะให้เป็นอาหารปั่นเช่นเดียวกันกับลูกไก่ในช่วงอนุบาล แต่จะไม่เน้นใช้ยาปฏิชีวนะเข้ามารักษาโรคของไก่แจ้ในช่วงนี้เพราะต้องการให้ไก่แจ้สร้างภูมิต้านทานและแข็งแรงได้ด้วยตนเอง

ส่วนการพัฒนาสายพันธุ์นั้นบางครั้งเมื่อเลี้ยงไปสักระยะ อาจจะต้องผ่าเหล่าหาเลือดใหม่เข้ามาเติม เพราะการใช้แต่ไก่แจ้ของตนเองที่มีเลือดชิดกันมากมาผสมพันธุ์อยู่โดยตลอด ไก่แจ้ที่เกิดออกมาจะพิการหรือด้อยลงไปเรื่อยๆ แต่ก็ต้องคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ในกลุ่มโทนสีเดียวกันและฟอร์มที่สวย อาจเลือกใช้วิธีการเสาะหาพ่อ-แม่พันธุ์จากฟาร์มไก่แจ้ที่มีความไว้ใจกันเพื่อใช้เป็นทางเลือกในการเข้าคู่เพื่อผสมพันธุ์ในแต่ละครั้ง


ตลาดไก่แจ้ปัจจุบันเป็นอย่างไร
“ตลาดไก่แจ้ในปัจจุบันนับว่าดีเป็นอย่างมากเนื่องจากมีลูกค้าหน้าใหม่ที่ให้ความสนใจกับการเลี้ยงไก่แจ้อยู่โดยตลอด กอปรกับไก่แจ้มีการจัดงานประกวดขึ้นทุกเดือนทั้งในภูมิภาคต่างๆ รวมถึงในกรุงเทพฯ ซึ่งการจัดประกวดในแต่ละครั้งมีหลักเกณฑ์ที่ผู้เข้าประกวดจะต้องปฏิบัติตาม อาทิ ไก่ที่เข้าประกวดจะต้องอยู่ในโทนสีเดียวกันและมีลักษณะที่ถูกต้องตรงตามตำราไม่ผิดเพี้ยน ข้อปฏิบัติเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ส่งผลให้ผู้เลี้ยงต้องมีการพัฒนาสายพันธุ์ไก่แจ้เพื่อบีบให้เข้าหลักเกณฑ์และผลิตไก่แจ้ฟอร์มสวยขึ้นมาใหม่อยู่โดยตลอด

อีกทั้งการนำไก่เข้าประกวดในงานต่างๆ ยังถือเป็นการสร้างชื่อให้แก่ผู้เพาะเลี้ยงและได้พบกับลูกค้าซึ่งสนใจในไก่แจ้โทนสีนั้นๆ โดยตรง นับเป็นการกระตุ้นการตลาดไปโดยปริยาย สำหรับฟาร์มไก่แจ้ดาดฟ้าชุมพรก็มีการส่งไก่แจ้เข้าประกวดและได้รับรางวัลอยู่ตลอด นับเป็นการรักษามาตรฐานในการผลิตไก่แจ้คุณภาพดี ส่งผลให้ได้รับความนิยมจากลูกค้า ส่วนระดับราคามีตั้งแต่ 1,000-5,000 บาท เพราะไก่แจ้บางตัวอาจไม่ใช่เกรดประกวดแต่เหมาะสำหรับเลี้ยงเล่นเพื่อความสวยงาม ส่วนเกรดประกวดสามารถนำไปต่อยอดเป็นพ่อ-แม่พันธุ์ได้ก็มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 3,500-5,000 บาท แต่บางครั้งก็ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้ซื้อและผู้ขาย โดยรายได้สูงสุดที่เคยทำได้จากการจำหน่ายไก่แจ้ คือ 30,000 บาท ต่อเดือน”

คุณกนกศักดิ์ ฝากถึงผู้สนใจเลี้ยงไก่แจ้ว่า ควรเริ่มต้นเลี้ยงไก่แจ้ด้วยความรัก เพราะต่อไปจะเป็นภาระติดตามตัว ถ้าไม่รักไม่ชอบก็เกิดความเบื่อหน่ายต้องปล่อยเสียของ เพราะฉะนั้น งานอดิเรกไม่ว่าอะไรก็ตาม หากเริ่มต้นด้วยความรักความชอบย่อมมีกำลังใจที่จะดูแลต่อไป แต่ก็ต้องมีจุดยืนของตนเอง ไม่เลี้ยงทุกสีและอยู่ในจำนวนที่ดูแลไหว

 

 

 

ติดต่อเกษตรกร คุณกนกศักดิ์ รัตนวงศ์ หรือ คุณตั้ม เลขที่ 355/2-3 สุขเสมอ ซอย 9/2 ตำบลท่าตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร 86000 โทร. (085) 191-0827 หรือ เฟซบุ๊ก ไก่แจ้ดาดฟ้าชุมพร

เผยแพร่ครั้งแรกวันศุกร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ.2563

ADS Fix3
ADS Fix5