วารสารวิชาการเชิงวิทยาศาสตร์ “เนเจอร์” ได้ตีพิมพ์ผลการวิจัยเรื่องอัตราการตายของไก่ไข่ โดยงานวิจัยนี้ใช้ข้อมูลเชิงพาณิชย์ปริมาณมากที่สุดเท่าที่เคยมีมาในการวิเคราะห์ และพบว่า อัตราการตายของไก่ไข่ที่ไม่ถูกขังกรงมีจำนวนลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง เมื่อได้รับการเลี้ยงดูในระบบการเลี้ยงไก่แบบปล่อย ซึ่งเกิดจากประสบการณ์การจัดการและความรู้ในการเลี้ยงไก่ที่เพิ่มขึ้น
การวิจัยนี้เก็บข้อมูลจากแม่ไก่จำนวน 176 ล้านตัวจาก 16 ประเทศ แล้วนำมาเปรียบเทียบการตายของไก่แต่ละกลุ่มที่แยกตามระบบโรงเรือนเลี้ยงไก่ อันได้แก่ ระบบการเลี้ยงในกรงตับที่ใช้กันทั่วไปในปัจจุบัน ระบบการเลี้ยงในกรงเสริมอุปกรณ์ และระบบการเลี้ยงแบบไม่ใช้กรง (แบบ Aviary) ผลที่ได้จากการเก็บข้อมูลเป็นเวลาสิบปีพบว่า ประสบการณ์ในการเลี้ยงไก่โดยระบบแบบไม่ใช้กรงมีความเกี่ยวพันกับการตายที่ลดลงถึงร้อยละ 4-6 หรือเรียกได้ว่า “อัตราการตายที่ลดต่ำลงเร็วกว่าตัวเลขที่รายงาน” แต่อัตราการตายจากระบบการเลี้ยงไก่แบบขังกรงนั้นไม่สูงไปกว่าเดิมแล้ว จึงสรุปได้ว่า การตายของไก่ที่เลี้ยงในระบบไม่ขังกรงไม่ได้สูงกว่าการตายของไก่ที่เลี้ยงในโรงเรือนที่ใช้ระบบกรงตับแบบที่ใช้กันทั่วไปในปัจจุบัน
เมื่อทำการเปรียบเทียบระหว่างระบบต่างๆ กับระดับวุฒิภาวะเชิงเทคโนโลยี การตายของไก่ในโรงเลี้ยงแบบไม่ขังกรงไม่ได้สูงกว่าการตายของไก่ในระบบโรงเลี้ยงแบบขังกรง
ด๊อกเตอร์ซินเธีย ฌัก-เพม หนึ่งในผู้เขียนบทความวิจัยกล่าวว่า “อันที่จริง แนวโน้มที่สังเกตเห็นได้จากข้อมูลแสดงให้เห็นว่า การตายของไก่ในโรงเลี้ยงแบบไม่ขังกรงจะต่ำลงก็ได้ หากการบริหารจัดการดำเนินไปโดยมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และการศึกษาด้านพันธุศาสตร์เพิ่มประสิทธิภาพสูงสุดให้กับระบบการเลี้ยงไก่แบบไม่ขังกรง
งานวิจัยระบุว่า หลายสิบปีมานี้ ระบบกรงเชิงอุตสาหกรรมได้มีการปรับเปลี่ยนเพื่อลดการสูญเสียที่เกิดจากการตายของไก่ไข่แต่ละตัว และเป็นเรื่องปกติที่ระบบโรงเรือนที่เพิ่งสร้างใหม่ก็ทำตามๆ กันไป” งานวิจัยยังได้อธิบายเพิ่มว่า ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดการตายของไก่ในระบบการเลี้ยงไก่แบบปล่อย อย่างเช่น อุปสรรคที่เกิดจากจุลินทรีย์ก่อโรคใหม่ๆ และการที่ไก่ต้องได้รับบาดแผลจากการจิกกัด เป็นสิ่งที่สามารถจัดการได้ หากผู้ผลิตรู้จักสั่งสมประสบการณ์ที่จำเป็นต่อการดำเนินการระบบการเลี้ยงแบบไม่ขังกรงให้ประสบความเร็จ
ประโยชน์ของระบบการเลี้ยงไก่แบบไม่ขังกรงกลายเป็นหัวข้อวิจัยมากมาย รายงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ได้ตีพิมพ์ใน วารสาร World’s Poultry Science ระบุว่า “แม่ไก่ในระบบการเลี้ยงแบบไม่ขังกรงมีสุขภาพกล้ามเนื้อและกระดูกสมบูรณ์ที่สุด ภาวะโรคกระดูกพรุนก็ลดลง และภาวะกระดูกหักหรือกระดูกแตก ที่มักเกิดในช่วงการคัดสรรไก่เข้าโรงชำแหละก็ลดน้อยลง
สำหรับแม่ไก่ที่เลี้ยงในกรงตับ แม่ไก่จะใช้ชีวิตในกรงแคบๆ ร่วมกับไก่ตัวอื่นๆ ไก่หนึ่งตัวจะได้ใช้พื้นที่ขนาดเล็กกว่ากระดาษขนาดเอ 4 เสียอีก แม่ไก่จะไม่สามารถกางปีกออกได้จนสุด หรือเดินไปมาอย่างอิสระ ในระบบแบบนี้ แม่ไก่ไม่สามารถทำกิจกรรมตามพฤติกรรมพื้นฐานของไก่ได้ อย่างเช่น การสร้างรังฟักไข่ การจิก และการอาบฝุ่นของไก่ แม้สิ่งเหล่านั้นจะเป็นส่วนสำคัญในเรื่องความอยู่ดีมีสุขของไก่ แม่ไก่กลับต้องยืนบนพื้นที่ทำจากลวดตาข่าย ที่มักทำให้เท้าไก่เป็นแผล เกิดภาวะกระดูกพรุน อันเกิดจากการไม่ได้เคลื่อนไหว ไปจนเกิดกระดูกหักหรือแตกที่สร้างความเจ็บปวดให้ไก่อีกด้วย
หมายเหตุ ขอขอบคุณข้อมูลจาก www.technologychaoban.com