ไม่ได้ยากขนาดนั้น ถ้าอยากจะเลี้ยงไก่ไว้กินไข่เอง
แม่ไก่ออกไข่วันละฟอง ไข่วันละฟอง ไข่วันละฟอง…
เราร้องเพลงนี้กันได้ตั้งแต่เด็กๆ โดยที่ไม่รู้หรอกว่า แม่ไก่ออกไข่กี่ฟองกันแน่ เพราะเห็นอีกที ก็แพ็คเรียงสวยพร้อมซื้อ หรือไม่ก็ทอด เจียว โปะ ลงมาในอาหารเรียบร้อยแล้ว และสำหรับคนเมืองอย่างเราๆ ภาพตื่นแต่เช้ามาเก็บไข่เรียงรายอยู่ในหญ้าฟางในเล้าไก่ ดูจะเป็นสิ่งที่ปรากฏอยู่ในหนัง ไม่ก็หนังสือนิทานเท่านั้น
ไม่จริง! ป้าหน่อย-พอทิพย์ เพชรโปรี แห่งร้าน Health Me บอกเราว่าคนเมืองก็มีไข่ไก่สดๆ จากแม่ไก่กินได้ทุกเช้า และได้ลองทำเป็นตัวอย่างไว้ให้แล้วที่บ้านสวนเรียนรู้เกษตรในเมือง Organic Way พื้นที่กะทัดรัดที่เป็นบ้านของเหล่าแม่ไก่ตัวอวบ ได้กิน บิน นอน คุ้ย เขี่ย และออกไข่ได้อย่างสบายใจได้เลย
คนเมืองเลี้ยงไก่ได้จริงเหรอ?
ป้าหน่อยบอกเราว่า ในตอนแรกก็เคยกังวลว่าการเลี้ยงไก่จะเป็นความยุ่งยากวุ่นวาย แต่พอได้ทดลองเลี้ยงก็พบว่ามันไม่ได้ยากขนาดนั้น หลักการสำคัญในการเลี้ยงสัตว์ที่อยู่ในวงจรออร์แกนิก หนึ่งคือเรื่องอาหาร และสองคือการจัดการที่ตอบโจทย์ธรรมชาติของเจ้าไก่พวกนี้เท่าที่พื้นที่จะอำนวย เล้าไก่ ณ ออร์แกนิกเวย์จึงไม่ได้กว้างใหญ่ แต่สูงพอที่จะพาดคานไว้ให้เหล่าแม่ไก่ไต่และขึ้นไปนอนอยู่บนคอนหรือคานตามความชอบของมันได้ ถ้ามีพื้นที่รั้วรอบขอบชิด ที่เปิดเล้าให้มันออกมาเดินเล่นทุกเย็นแบบป้าหน่อยก็ได้ ในขณะที่บางบ้าน อาจจะสร้างกรงเล็กๆ ไว้มุมหนึ่งบนดาดฟ้า หรือกระทั่งระเบียงเล็กๆ ของคอนโดฯ ก็ยังไหว ขอแค่ให้อากาศถ่ายเท และรักษาความสะอาดได้ง่าย แล้วก็มีกรงตาถี่มิดชิด กันงูและสัตว์อื่นมาบุกรุก
ชวนแม่ไก่พันธุ์ไหนมาเข้าเล้าดี?
แม่ไก่ที่ติดชาร์ตยอดนิยมตอนนี้เป็นไก่พันธุ์ผสมที่ดูแลสายพันธุ์จนเหมาะจะเป็นไก่ไข่โดยเฉพาะ 3 สายพันธุ์หลักๆ ที่แข็งแรง ไม่ค่อยเป็นโรค ไข่ดก และไม่กกไข่ก็คือ โร้ด ไอส์แลนด์ (Rhode Island) บาร์ พลีมัท ร็อก (Barred Plymouth Rock) และ เลกฮอร์น (Leghorn) ซึ่งพันธุ์หลังนี้ ไข่จะออกมาสีขาวและฟองเล็กหน่อย แต่ป้าหน่อยบอกว่าเอาไปต้มอร่อยมาก!
จากลูกเจี๊ยบตัวจิ๋ว เราต้องใช้เวลาประมาณ 6 เดือนพวกมันจึงพร้อมเป็นแม่ไก่ออกไข่ให้เรากิน ก่อนจะทำหน้าที่เต็มที่วันละฟองทุกวันไปอีกเกือบปีครึ่ง จนค่อยๆ ออกไข่น้อยลง และหมดหน้าที่ไป ซึ่งถ้าเราอยากกินไข่เฉยๆ ก็ให้เลี้ยงแต่ตัวเมียก็พอ เพราะถ้าเลี้ยงตัวผู้ด้วย ระวังมันจะขันเอ้กอิเอ้กเอ้กทั้งวันจนข้างบ้านรำคาญใจได้
ต้องเลี้ยงกี่ตัวถึงจะพอกิน?
ถ้าอยู่กันแค่ 2 คน แม่ไก่ 3 ตัวก็พร้อมจะออกไข่ให้วันละ 2 ฟองแล้ว อยากได้แค่ไหนก็คูณจำนวนเฉลี่ยได้เลย
ก่อนจะกินไข่ ให้ไก่กินอะไรดี?
อาหารไก่สำเร็จรูปก็มีวางขายทั่วไป แต่ก็อาจจะผสมหัวอาหารหรือสารเร่งบางอย่างมาก็ได้ และอันที่จริงเราก็สามารถผลิตอาหารไก่เองได้ มีสูตรเยอะแยะเสิร์ชเจอเพียบ ยกตัวอย่างเช่น กากถั่วเหลือง ข้าวโพด รำข้าว นำมาบดให้ละเอียด หลักการง่ายๆ คือมีสารอาหารตามโครงสร้างไข่ ถั่วเหลืองหรือข้าวโพดให้โปรตีน ส่วนผักช่วยเพิ่มไข่ขาว อาจมีพวกเปลือกหอยเพิ่มแคลเซียม หรือกระทั่งเศษอาหารจากครัวของเราก็เป็นอาหารให้มันได้ แต่ขอให้หลีกเลี่ยงอาหารเผ็ดๆ เพราะเหล่าแม่ไก่ไม่ถนัด และก็ดูสัดส่วนให้ดี ไม่ใช่ให้เยอะจนกินไม่หมด แล้วหมักหมมจนทำให้โรงเรือนไม่สะอาด ก่อโรคได้
ไก่ป่วยพาไปหาหมอที่ไหน?
พาไปโรงพยาบาลสัตว์ แต่ถ้าดูแลดี โรงเรือนสะอาด ควบคุมสุขลักษณะอยู่เสมอโอกาสเกิดโรคก็มีน้อย แต่ก็ต้องคอยสังเกตว่าไก่ตัวไหนเริ่มซึม หงอนซีด แยกตัวจากฝูง อาจจะต้องมาดูแลกันเป็นพิเศษและกักบริเวณแยกจากเพื่อน ตอนแรกอาจรักษาด้วยสมุนไพร เช่น ผสมฟ้าทลายโจรหรือขมิ้นลงไปในน้ำดื่มให้มันก่อน แต่ถ้าอาการดูท่าไม่ดี ก็อุ้มไปหาหมอได้เหมือนพาหมาพาแมวไปนั่นแหละ
ซื้อกินง่ายจะตาย ทำไมต้องเลี้ยงเอง?
“ถ้าเราคำนวณความคุ้มค่าของการใช้พื้นที่และการลงทุนมันไม่คุ้มหรอกค่ะ ระบบอุตสาหกรรมจึงเลี้ยงให้มันอยู่ในที่แคบๆ กินอย่างเดียวจนอ้วนเพื่อจะได้ออกไข่ไวๆ แต่นั่นไม่ใช่การเลี้ยงสัตว์ แต่เป็นโรงงานผลิตไข่โดยอาศัยแม่ไก่ คือเราไม่ได้ไปวัดคุณค่าหรอก ว่าไข่ที่เลี้ยงแบบนี้จะมีวิตามินอะไรเพิ่มขึ้น แต่ป้าคิดว่า ถ้าเราอยากจะกินของดีของเขา เราก็ควรเลี้ยงดูเขาดีหน่อย” ป้าหน่อยกล่าว ก่อนจะบอกขอบคุณเหล่าแม่ไก่ที่มอบไข่สดๆ ให้เราได้กิน
FB: www.facebook.com/organicwaypage
ภาพถ่ายโดย มณีนุช บุญเรือง