กทม.เจออีก! 2 คลัสเตอร์ใหม่ ศูนย์ผู้สูงอายุ-รง.จิวเวลรี่ ห่วงเคสสีแดงรอเตียงวันละ 40-50 คน
กทม.ติดเชื้อ 1,549 ราย ดับ 30 ราย เจอ 2 คลัสเตอร์ใหม่ ศูนย์ดูแลสูงอายุมีนบุรี 17 คน และโรงงานผลิตจิวเวลรี่บางนา ห่วงผู้ป่วยสีแดงรอเตียง 40-50 รายต่อวัน
เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2564 พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์โรคโควิด-19 ว่า ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อสะสม 185.3 ล้านราย เพิ่มขึ้น 4.28 แสนราย เสียชีวิตสะสม 4,008,981 ราย เพิ่มขึ้น 7.9 พันราย อังกฤษมีรายงานผู้ติดเชื้อสูง วันนี้อยู่ที่ 28,773 ราย แต่เสียชีวิตต่ำ 37 ราย เพราะมีการกระจายวัคซีนต่อเนื่อง โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวจะลดอัตราการป่วยหนัก การนอน รพ. และเสียชีวิตได้
ส่วนประเทศไทยขยับขึ้นอันดับ 64 ของโลกติดเชื้อรายใหม่ 6,519 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 6,448 ราย เดินทางมาจากต่างประเทศ 16 ราย และเรือนจำ 55 ราย เสียชีวิต 54 ราย ผู้ป่วยสะสม 301,172 ราย เสียชีวิตสะสม 2,293 คน รักษาตัวในรพ. 67,614 ราย อาการหนัก 2,496 ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจ 676 ราย
“ที่ประชุมมีการรายการลักษณะความรุนแรงของผู้ป่วยแยกตามเขียว เหลือง แดง ซึ่งก่อนหน้านี้การระบาดช่วงต้นเดือน เม.ย. ผู้ป่วยส่วนใหญ่ 80% เป็นผู้มีอาการระดับสีเขียว สีเหลืองประมาณ 15% สีแดง 5% ตอนนี้สีเขียวเหลือ 70% สีเหลืองเพิ่มขึ้นเป็น 20% และผู้ป่วยสีแดงเพิ่มเป็น 10% ซึ่งผู้ป่วยสีแดง 10 ราย จะมี 4-5 รายต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ และผู้ใช้เครื่องช่วยหายใจทุก 10 คนจะมีรายงานเสียชีวิต 1-2 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่กระทรวงสาธารณสุขระวังอย่างใกล้ชิด เพื่อการจัดการเตียง” พญ.อภิสมัย กล่าว
สำหรับผู้เสียชีวิต 54 ราย พบ กทม. 30 ราย ปัตตานี 4 ราย สมุทรปราการ ปทุมธานี จังหวัดละ 3 ราย นครราชสีมา ยะลา สมุทรสาคร จังหวัดละ 2 ราย และเชียงราย เพชรบุรี ชลบุรี นครปฐม ชัยภูมิ นราธิวาส นครศรีธรรมราช และพระนครศรีอยุธยา จังหวัดละ 1 ราย อายุต่ำสุด 26 ปี สูงสุด 89 ปี ค่ากลางอยู่ที่ 69 ปี ศบค.เน้นย้ำเสมอว่า การกระจายของการติดเชื้อในผู้อายุน้อย อัตราเสียชีวิตจะต่ำกว่า โดย 100 รายหรือ 1 พันราย จะมีคนเสียชีวิต 1 ราย แต่หากเป็นคนสูงอายุพบว่า 10 คนจะมีเสียชีวิต 1 คน ถือเป็น 10% ตัวเลขสูง จึงต้องขอความร่วมมือฉีดวัคซีนให้กลุ่มนี้มากที่สุด
ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 16 ราย มาจากอินเดีย 5 ราย สหระฐาหรับเอมิเรตส์ 2 ราย บังกลาเทศ อังกฤษ ลิเบีย และโอมาน ประเทศละ 1 ราย และกัมพูชา 5 ราย โดยพบมี 1 รายเดินทางมาจากช่องทางธรรมชาติ
พญ.อภิสมัย กล่าวต่อว่า ส่วน 10 จังหวัดติดเชื้อสูงสุด เกิน 100 รายทั้งหมด ได้แก่ 1.กทม. 1,549 ราย สะสม 85,285 ราย 2.สมุทรปราการ 548 ราย สะสม 20,127 ราย 3.สมุทรสาคร 434 ราย สะสม 10,443 ราย 4.นครปฐม 266 ราย สะสม 5,607 ราย 5.ชลบุรี 262 ราย สะสม 10,283 ราย 6.ฉะเชิงเทรา 252 ราย สะสม 2,994 ราย 7.ประจวบคีรีขันธ์ 241 ราย สะสม 3,091 ราย 8.นนทบุรี 235 ราย สะสม 13,086 ราย 9.ปทุมธานี 212 ราย สะสม 10,175 ราย และ 10.ปัตตานี 190 ราย สะสม 3,534 ราย
กทม.พบคลัสเตอร์ใหม่ คือ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ เขตมีนบุรี ตรวจเชื้อผู้สูงอายุ 38 คน ติดเชื้อ 6 คน ตรวจเชื้อผู้ดูแล 36 คน ติดเชื้อ 11 คน และโรงงานผลิตจิวเวลรี เขตบางนา รวมมีคลัสเตอร์ 118 แห่ง
พญ.อภิสมัย กล่าวอีกว่า การรอเตียง ผู้ป่วยสีแดงประมาณ 40-50 รายต่อวัน สีเหลือง 200-300 รายต่อวัน ที่เริ่มมีอาการเหนื่อยหอบแล้ว ส่วนหนึ่งไม่มีอาการแต่เป็นสูงอายุหรือโรคประจำตัว และสีเขียว 300-400 รายต่อวัน การสะสม 2 สัปดาห์แต่ละวันมีคนติดเชื้อใหม่ทั้งสีเขียวเหลืองแดง ตัวเลขสะสมช่วงนี้สูงถึง 1 พันราย แต่การส่งเข้ารักษา มีศักยภาพขนประมาณ 500 เที่ยวต่อวัน ก็พยายามหาเตียงให้เข้าสุ่ระบบ แต่เตียงและการขนส่งทำได้จำกัด
การประชุมจึงมีมาตรการจัดการ คือ เพิ่มศักยภาพขนผู้ป่วยไปยังศูนย์บริการให้ความสำคัญเหลืองและแดง โดยแดงเข้าระบบทันที เหลืองต้องคอยน้อยที่สุด 1 วัน นำเข้าระบบ ส่วนสีเขียวยังแข็งแรงดีหรือสีขาวไม่มีอาการ จะรับการจัดสรรไปศูนย์พักคอย กทม.ในแต่ละเขต
“วันนี้จะมีการเปิดบริการศูนย์พักคอย 5 ศูนย์ทันที คือ อาการปฏิบัติธรรมวัดอินทรวิหาร 170 เตียง วัดสะพาน เขตคลองเตย 250 เตียง ค่ายลูกเสือวันวานเขตหนองจอก 200 เตียง วัดศรีสุดารามวรวิหาร เขตบางกอกน้อย 90 เตียง ศูนย์สร้างสุขทุกวัยบางแค 150 เตียง ที่เหลือทยอยเปิดในวันที่ 9 ก.ค. มี รพ.พี่เลี้ยงได้แก่ รพ.หลวงพ่อทวีทรัพย์ รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ รพ.กลาง รพ.สิรินธร รพ.เวชการุณ รพ.ตากสิน ตอนนี้เตียงจำกัดจะให้เหลืองแดงเข้าหาเตียงทันที ส่วนไม่มีอาการไปศูนย์พักคอย ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงจะส่งต่อรพ.ที่เหมาะสมแน่นอน”
พญ.อภิสมัย กล่าวต่อว่า การจัดตั้งรพ.สนามระดับสูงสนามบินสุวรรณภูมิ จะเตรียมการจากนี้ 3 สัปดาห์ เปิดรับผู้ป่วย ส.ค. 5 พันเตียง โดยจะสำรองสำหรับผู้ป่วยสีแดง ประมาณ 1,360 เตียง ที่เหลือคือเหลืองและเขียว ส่วน Home Isolation คือแยกกักดูแลที่บ้าน มีความเสี่ยงทำให้มีการพิจารณาอย่างรอบคอบ ต้องมีมาตรการให้ประเมินตัวเองได้แม่นยำ อุณหภูมิ ออกซิเจนในเลือด สอบถามผู้ป่วยทางเทคโนโลยี ผู้ป่วยต้องร่วมมือ มีการแยกกักที่ดีไม่แพร่เชื้อครอบคัรวชุมชน จึงไม่ได้ให้ทุกรายเลือกแยกกักที่บ้านได้ ต้องมีการพิจารณา เช่น ลักษณะบ้านไม่เหมาะสม อยู่บ้านหลายคน ห้องน้ำเดียว มีปัญหาทางสุขภาพจิต ใช้บุหรี่ไฟฟ้า อาจไม่เหมาะในการดูแลระบบนี้
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Khaosod