พิษโควิดต้องตกงานหนุ่มใหญ่ในราชบุรี "เพาะไก่ชนขาย"ออเดอร์เพียบ
หนุ่มใหญ่ใน ต.ท่าชุมพลอ.โพธาราม จ.ราชบุรี อดีตลูกจ้างทำงานติดตั้งเสาร์สัญญาณโทรศัพท์ในต่างประเทศถูกเลิกจ้างจากผลกระทบของโรคระบาดโควิด 19 หันกลับมาเลี้ยงไก่ชนเพาะลูกขาย ไม่ได้ชนแต่เลี้ยงเพื่อความสวยงาม กิจการดีมีสั่งจองตั้งแต่ยังไม่ออกไข่
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 ส่งผลกระทบหลายอาชีพต้องตกงาน ขาดรายได้ หลายคนพยายามมองหาช่องทางอาชีพเสริม เพื่อความอยู่รอดในช่วงนี้ไปก่อน เพื่อรอให้สถานการณ์คลี่คลายดีขึ้น วันนี้จะพาไปดูหนุ่มใหญ่รายหนึ่งใน ต.ท่าชุมพล อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ได้ใช้พื้นที่ดินหลังบ้าน ปลูกกล้วยน้ำหว้าเป็นประโยชน์ให้ร่มเงา เหมาะสมกับการเลี้ยงไก่ชน ของคุณวิชัย แป้นกลัด อายุ 46 ปี อยู่บ้านเลขที่ 59 หมู่ 8 ต.ท่าชุมพล อ.โพธาราม ที่นำไก่ไทย หรือไก่ชน หลากหลายสายพันธุ์ที่นำมาเพาะเลี้ยงอยู่ในโรงเรือนที่ปลูกสร้างแบบง่าย ๆ มีทั้งขังอยู่ในสุ่มไก่ ให้น้ำพร้อมข้าวเปลือกไว้พร้อมเพื่อเป็นอาหาร ส่วนหนึ่งนำโอ่ง กระถาง หรือ ตะกร้า มาวางให้แม่ไก่ได้ฟักไข่ เพื่อเพาะเลี้ยงเอาลูกไว้ขาย ที่เลี้ยงอยู่มี 9 สายพันธุ์ ส่วนใหญ่พ่อแม่พันธุ์ จะไปหาซื้อตามแหล่งสายพันธุ์ที่ จ.พิษณุโลก กำแพงเพชร เชียงใหม่ พิจิตร ได้แก่ พันธุ์เหลืองหางขาว พันธุ์ประดู่หางดำ พันธุ์ขาวชี พันธุ์เขียวพาลี พันธุ์เทาทอง พันธุ์ด่างเบญจรงค์ พันธุ์นกแดง พันธุ์นกกรดหางดำ พันธุ์ลายหางขาว ทำคอกไว้เพื่อเพาะเลี้ยงผสมพันธุ์ เมื่อแม่ไก่วางไข่ฝักเป็นตัวเล็ก ๆ ออกมา เลี้ยงดูประมาณ 2 เดือน สามารถจับขายส่งลูกค้าที่สั่งซื้อนำไปเลี้ยงต่อ ไม่ได้เลี้ยงเพื่อชน แต่เลี้ยงเพื่อความสวยงามแถมได้ราคาดีด้วย
นายวิชัย แป้นกลัด ผู้เลี้ยงไก่ กล่าวว่าก่อนหน้านี้เป็นลูกจ้างทำงานติดตั้งเสาร์สัญญาณโทรศัพท์ในต่างประเทศ อยู่ประเทศเมียรมา ช่วงเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด -19 ทำให้ต้องปิดประเทศทำให้งานหยุดชะงัก จึงกลับมาอยู่บ้าน ตอนแรกก็ยังไม่รู้ว่าจะทำงานอะไรดี พอหวนคิดสมัยเป็นเด็กเคยเลี้ยงไก่อยู่เดิม จึงตัดสินใจหันกลับมาเลี้ยงไก่ชน แต่ไม่ได้เลี้ยงเพื่อนำไปแข่งขันตีชนกัน เลี้ยงแบบประเภทสวยงาม นำส่งเข้าประกวดไก่สวยงาม ตอนนี้มีหน่วยงานรัฐให้ความสนใจส่งเสริมเรื่องการประกวดไก่สวยงามอยู่ด้วย ชอบที่จะเลี้ยงแบบสวยงามมากกว่าจะนำไปแข่งตีกัน ช่วยทำให้มีรายได้มากพอกับไก่ชนที่นำไปแข่งขันเหมือนกัน เพาะเลี้ยงไม่ถึงปี ฟักลูกไก่ได้หลายชุด จะมีราคาแพงใกล้เคียงกันทุกสายพันธุ์ แต่ราคาแพงที่สุดเป็นสายพันธุ์เหลืองหางขาว รองลงมาจะเป็นพันธุ์ประดู่หางดำ ขึ้นอยู่กับความสวยงามความหายาก อย่างลูกไก่ จะขายตั้งแต่อายุประมาณ 2 - 8 เดือน ลูกไก่อายุ 2 เดือน ขายอยู่ราคาหลักพันบาทต้น ๆ แต่หากเป็นไก่ใหญ่อายุ 6 - 7 เดือน มีราคาหลักพันกลาง ๆ - หลักหมื่น ตัวสวย ๆ ถึงหลักแสนบาท บางตัวขายกันอยู่หลักล้านก็ยังมี ที่นี่เคยขายราคาแพงสุดประมาณตัวละกว่า 2 หมื่นบา อายุประมาณ 1 ปีกว่า ส่วนการขายจะเข้าไปในกลุ่มโลกโซเชียลไก่ชน เข้าไปหาเพื่อน ๆ ที่เลี้ยงไก่ชน ไก่สวยงามจะมีการพูดคุยสอบถามรายละเอียดแต่ละสายพันธุ์ที่เราเลี้ยงอยู่ ตอนนี้เพาะขายได้ออกไปแล้ว 2 ชุด และยังมียอดสั่งจองลูกไก่เข้ามาเพิ่มอีกเรื่อย ๆ บางคนเห็นพ่อแม่พันธุ์แล้วสนใจขอซื้อเป็นไข่ เพื่อนำไปฟักเครื่องเลี้ยงดูแลเอง
สำหรับไก่แต่ละสายพันธุ์ จะมีลักษณะเด่นแตกต่างกันที่สีขน ลำตัว รูปร่าง เช่น ไก่สายพันธุ์เหลืองหางขาว หรือไก่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีสายพันธุ์มาจาก จ.พิษณุโลก เป็นคู่แรกที่นำมาเพาะเลี้ยง มีลักษณะปากใหญ่ขาว อมเหลือง มีร่องเห็นได้อย่างชัดเจนตรงกลางนูนเป็นสันราง ตาขาวจะมีเส้นสีแดง เรียกว่าตาเพชร ขนหางกระรวยมีสีขาวพุ่งออกยาวมองเห็นได้เด่นชัดขนหางพุ่งตรงและยาวหางโค้งตกลงเพียงเล็กน้อยขาแข้งและเดือยมีสีขาวอมเหลือ เป็นสีเดียวกับปาก
ส่วนพันธุ์เขียวพาลีจะมีลักษณะทรงเพรียวระหงขนพื้นตัวขนหางพัดหางกระรวยสีดำสนิทขนสร้อยคอสร้อยปีกสร้อยหลังเป็นสีเขียวอมดำ ปากแข้งเล็บเดือย เป็นสีเขียวอมดำ ส่วนพันธุ์ด่างเบญจรงค์ มีลักษณะ 5 สี ในตัว คือ ขาว ดำ เหลือง แดง เขียว ห้าสกุล เป็นไก่มงคล ใครได้เป็นเจ้าของเลี้ยงไว้ในบ้านถือเป็นมงคลแก่บ้านเรือน ลักษณะขนสร้อยคอจะมีครบ 3 สี ดำ แดง เหลือง หรือ ขาว แดง เหลือง ถ้าขนสร้อยมีมากกว่าหนึ่งสีจะดีมากแต่อย่างน้อยต้องมีสามสี หางต้องมีสองสี คือ โคนหางสีหนึ่งปลายหางสีหนึ่งรวมเป็นสองสี หัวปีกต้องมีสามสี แคร่หลังหรือสร้อยหลัง จะต้องมีสามสี สร้อยคอถ้ามีมากกว่าสามสีก็จะดีมาก
สำหรับการเพาะเลี้ยงหลังผสมพันธุ์แล้วแม่ไก่จะฟักไข่ประมาณ 21 วันก็จะออกมาเป็นตัวโดยระยะเวลา 1 ปี สามารถเพาะลูกไก่ได้ประมาณ 3 - 4 รุ่น แต่ละรุ่นจะได้ลูกไก่ประมาณ 9 - 15 ตัว ใช้ข้าวเปลือกผสมกับอาหารให้กิน อยู่ในร่มของต้นกล้วย อากาศถ่ายเทสะดวก แม้จะมีเนื้อที่เพียงเล็กน้อยยังสามารถสร้างรายได้เป็นอาชีพเสริมเลี้ยงครอบครัวได้อีกทางในช่วงสถานการณ์วิกฤตโควิดเช่นนี้ ผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้นายวิชัย แป้นกลัด เบอร์โทร 062-4578574
ที่มา สยามรัฐ