“เลี้ยงไก่ไข่ในตะกร้า” ลดพื้นที่เลี้ยงไก่ สุนัขไม่ไล่กัด ขี้ไก่เป็นปุ๋ยให้ต้นไม้
คุณอรจรรยา จันทวรสุทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทรักษาความปลอดภัย กรุงไทยธุรกิจบริการ จำกัด หรือ KTBGS ได้จัดเวิร์กช็อปประจำปี สำหรับพนักงานที่กำลังจะเกษียณของบริษัทฯในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยมีแนวคิด ‘หากพนักงานเกษียณไปแล้ว จะทำอย่างไรให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข’ จึงได้พาคณะพนักงานที่สนใจ มาศึกษาดูงานที่ ศูนย์การเรียนรู้เกษตรพอเพียงบ้านสารภี ซึ่งตั้งอยู่ภายในชุมชนบ้านสารภี ตำบลจอมปลวก อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม
คุณอรจรรยา จันทวรสุทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทรักษาความปลอดภัย กรุงไทยธุรกิจบริการ จำกัด หรือ KTBGS
สำหรับศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้ชื่อ ” ศูนย์การเรียนรู้เกษตรพอเพียงชุมชนบ้านสารภี ” แห่งนี้ มีกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างทักษะ ความรู้ และแนวทางการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ให้ทั้งเกษตรกร และผู้ที่สนใจมาดูงาน เพื่อให้มีความแข็งแกร่ง อันเป็นการสร้างรากฐานต่อยอดในแต่ละอาชีพ
คุณสุชล สุขเกษม ผู้ก่อตั้งศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านสารภี
โดยคุณสุชล สุขเกษม ผู้ก่อตั้งศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านสารภีนั้น มีประสบการณ์ การดูงานด้านเกษตรในหลายจังหวัด ทั้งยังได้ใช้ความรู้จากตอนทำงานต่างประเทศ ได้น้อมนำพระราชดำริด้านเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระภูมิพลอดุลยเดชฯ มาเป็นแนวทาง แล้วจึงได้ก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง บ้านสารภีขึ้น เพื่อให้เกษตรกรได้ศึกษาแนวทาง หรือแม้แต่คนที่มีที่ดิน แต่ไม่รู้จะนำไปใช้ประโยชน์อะไร ได้นำไปปรับใช้ ซึ่งในพื้นที่ 1 ไร่ ของคุณสุชล มีการปลูกพืชแบบผสมผสาน และเลี้ยงสัตว์ควบคู่กันไป ปัจจุบันสร้างรายได้ต่อปีประมาณ 2 แสนบาท
คุณสุชล เผยว่า มีแนวคิด 4 ข้อ หลัก ที่ชาวบ้านสามารถเลือกเรียนได้ ตามความสนใจ เหมาะสมกับทรัพยากรที่มีอยู่ ได้แก่
การจัดการสุขภาพชุมชน ทั้งนี้คนในชุมชนจะได้รับการดูแลเบื้องต้นจากเจ้าหน้าที อาสาสมัครประจำหมู่บ้าน
เรียนรู้เรื่องพลังงานทดแทน เป็นแนวคิดจากการนำสิ่งของที่ไม่ได้ใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวัน มาประยุกต์ ปรับให้มีความทันสมัยมากขึ้น เช่น การทำแก๊สชีวภาพใช้เองจากมูลไก่ไข่
การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร โดยนำวัตถุดิบที่มีอยู่ ในแต่ละท้องถิ่น มาสร้างมูลค่าเพิ่มให้มากขึ้น เช่น การแปรรูปไข่เป็ด โดยนำมาทำเป็นไข่เค็มรสต้มยำ และไข่เค็มรสกะเพรา
เรียนรู้ถึงโครงการพระราชดำริแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ในเรื่องการใช้ชีวิตประจำวัน อาทิ การเลี้ยงไก่ไข่ในตะกร้า การเลี้ยงไก่ชิงช้าสวรรค์ การเลี้ยงปลาในร่องสวน เป็นต้น
สำหรับหัวใจของศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านสารภีนั้น ตั้งอยู่บนฐานความคิดในเรื่องของ การประหยัดใช้ทุกอย่างในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ โดยไม่มีการทิ้ง ปกติถ้าเลี้ยงไก่ ก็จะได้ไข่ไก่ แต่ที่ศูนย์ฯนั้น ถ้าเลี้ยงไก่จะต้องได้มากกว่าไข่ คือ ต้องได้แก๊ส ปุ๋ย น้ำชีวภาพ ปุ๋ยอัดแท่ง ซึ่งแนวคิดนี้ เป็นการใช้ชีวิตแบบครบวงจร ตั้งแต่ คน พืช และสัตว์
“การเลี้ยงไก่ไข่หลุม แนวคิดนี้ีจะประยุกต์มาจากการเลี้ยงหมูหลุมที่ทุกคนจะรู้จักกันดี แต่เนื่องจากพื้นที่จำกัดที่ไม่เหมาะกับการเลี้ยงหมู ดังนั้นจึงหันมาเลี้ยงไก่ไข่หลุมแทน โดยบนพื้นคอกจะใส่แกลบดิบ หรือ ขุยมะพร้าวแห้งลงไป หนาประมาณ 2-3 นิ้ว ก่อนที่จะนำไก่ไข่มาเลี้ยงในหลุม สำหรับประโยชน์ที่ได้ คือ ได้มูลที่ไก่ถ่ายออกมา ไว้ทำปุ๋ยหมักเพื่อใส่พืชผลทางการเกษตร หรือนำไปบรรจุใส่กระสอบ 30 กิโลกรัม เพื่อขาย ซึ่งขายได้ในราคากระสอบละ 50 บาท ซึ่งถือเป็นการ เพิ่มรายได้ อีกช่องทางหนึ่งด้วย”คุณสุชล กล่าว
และว่า ถ้าเรามีเนื้อที่น้อย ต้องใช้เนื้อที่ให้คุ้มค่า สามารถเปลี่ยนมาเลี้ยงไก่อยู่บนคอกเป็ดหลุมได้ ขี้ไก่จะเทมาอยู่ในราง ขี้เป็ดก็จะตกลงไปตามท่อ รวมกันไปทำแก๊สชีวภาพได้อีกด้วย
ส่วน การเลี้ยงไก่ไข่ในตะกร้า เป็นภูมิปัญญาที่คุณสุชลคิดขึ้น เมื่อคนมาเยี่ยมชมงานที่นี่ ต่างให้ความสนใจเป็นอย่างมาก โดยแนวคิดการเลี้ยงไก่ไข่ในตระกร้านี้ เกิดจากปัญหาการเลี้ยงไก่ของเกษตรกร ซึ่งจะมีปัญหาในเรื่อง ไก่ไปจิกพืชผักของบ้านข้างเคียง โดนสุนัขไล่กัด โดนงูกิน หรือ ถ้าเลี้ยงเป็นแบบอยู่ในเรือน ไก่จะเบียดเสียดกัน ขยับตัวไม่ได้ ทำให้ไก่เกิดความเครียด จิกกันเอง ไข่ที่ได้มาจึงไม่มีคุณภาพ
อีกทั้งต้นมะพร้าว หรือต้นไม้อื่นๆ ต้องให้ปุ๋ยคอกอยู่แล้ว ถ้านำไก่ขึ้นไปอยู่บนตระกร้าที่แขวนไว้ เมื่อไก่ถ่ายลงมา ก็จะกลายเป็นปุ๋ยให้กับต้นไม้ได้อีกด้วย
นอกจากนี้ ไก่ที่อยู่ในตระกร้า สามารถหมุนตัวได้รอบตัว อากาศถ่ายเท ทำให้ไก่มีความสุข ไข่ที่ได้มีคุณภาพ เรียกได้ว่า การเลี้ยงไก่ไข่ในตะกร้า นั้นทำประโยชน์ได้หลายต่อ ทั้งต้นไม้ที่ได้ปุ๋ยชีวภาพสดๆจากมูลไก่ คนได้ไข่ไก่และผลผลิตจากต้นไม้ เป็นการทำทุกอย่างแล้วได้ประโยชน์อย่างแท้จริง
การเลี้ยงไก่ไข่ในตะกร้าบนต้นไม้
คุณสุชล กล่าวอีกว่า อยากให้ชุมชนอื่นได้เข้ามาเรียนรู้ แล้วนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ในท้องถิ่นของตน ทุกสิ่งทุกอย่างในศูนย์การเรียนรู้นั้นสามารถนำมาปรับใช้ได้หมด เพียงแต่ขอให้ยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9
“การมีความรู้แม้เพียงน้อยนิด อาจพิชิตความจน หากดำรงตนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” นี่คือความตั้งใจผู้ก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง บ้านสารภี
ผู้สนใจต้องการศึกษาดูงานที่ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านสารภี ชุมชนบ้านสารภี ตำบลจอมปลวก อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ติดต่อจองคิวคุณสุชล ได้ที่เบอร์ 034 – 715051 หรือ 08–6178-4157