ดูถ่ายทอดสด "อัพเดตทุกเรื่องราวข่าวสารวงการไก่ชน ดูถ่ายทอดสดไก่ชน ครบทุกสนาม ทีเด็ดไก่ชน อัพเดทข่าวไก่ชนทุกประเด็นที่น่าสนใจ แหล่งความรู้สาระเรื่องที่เป็นประโยชน์ผู้เลี้ยงไก่ชน"

ไฮไลท์ไก่ชนล่าสุด

B1
ADS B2
ADS B3
ADS B4
หน้าหลัก ข่าวสารไก่ชน ข่าวไก่ชนออนไลน์ ไก่สวยซุ้มดัง “ตำบลท้อแท้ แต่คนไม่ท้อถอย”ใช้สภาองค์กรชุมชนฯขับเคลื่อนเกษตรพอเพียง ตั้ง‘ธนาคารไก่’แก้ปัญหาเศรษฐกิจช่วงโควิด

“ตำบลท้อแท้ แต่คนไม่ท้อถอย”ใช้สภาองค์กรชุมชนฯขับเคลื่อนเกษตรพอเพียง ตั้ง‘ธนาคารไก่’แก้ปัญหาเศรษฐกิจช่วงโควิด

วันอังคาร 11 สิงหาคม 2563 ยอดเข้าชม 94
SHARE ON:

 

“ตำบลท้อแท้ แต่คนไม่ท้อถอย”ใช้สภาองค์กรชุมชนฯขับเคลื่อนเกษตรพอเพียง ตั้ง‘ธนาคารไก่’แก้ปัญหาเศรษฐกิจช่วงโควิด

 


           ตำบลท้อแท้ อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก อยู่ห่างจากตัวเมืองพิษณุโลกประมาณ 25 กิโลเมตร มีแม่น้ำแควน้อยไหลผ่าน มี 8 หมู่บ้าน ประชากรประมาณ 4,700 คน ส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา ส่วนที่มาของชื่อตำบลเล่าต่อกันมาว่า ในสมัยก่อน เจ้าเมืองพิษณุโลกได้เดินทางด้วยเรือมาตามลำน้ำน่านแล้วล่องเข้าสู่แควน้อย แต่ด้วยลำน้ำมีความคดเคี้ยว ใช้เวลาเดินทางนาน เกิดความเมื่อยล้าอ่อนเพลียไปทั้งขบวน จนเกิดความท้อแท้ถึงขั้นจะหันหัวเรือกลับ และกว่าจะได้พักกินข้าวปลา อาหารที่เตรียมมาด้วยก็เกือบจะบูด จึงเรียกชื่อหมู่บ้านที่จอดเรือพักนี้ว่า “บ้านท้อแท้” ต่อมาเมื่อมีบ้านเรือนหนาแน่นจึงยกฐานะขึ้นเป็นตำบล

ด้วยชื่อของตำบล ‘ท้อแท้’ ฟังดูไม่เป็นมงคล วัดและหน่วยงานในท้องถิ่น จึงเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ‘วัดทองแท้’ และล่าสุดเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศของกระทรวงมหาดไทยให้เปลี่ยนชื่อ ‘อบต.ท้อแท้’ เป็น ‘อบต.ทองแท้’ หลังจากที่ อบต.ท้อแท้ได้ดำเนินการขอเปลี่ยนชื่อตั้งแต่ปี 2562

อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านส่วนใหญ่ ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากนัก เพราะเชื่อว่าความอยู่ดีมีสุขเกิดจากการขยันหมั่นทำมาหากิน และเกิดจากความรัก ความสามัคคีของคนในตำบลที่จะช่วยกันพัฒนาและแก้ไขปัญหาในตำบล ไม่ใช่เกิดจากชื่อแต่อย่างใด แต่เมื่อใครอยากจะเปลี่ยน ชาวบ้านก็ไม่ได้คัดค้าน และชื่อของตำบลก็ยังใช้ชื่อว่า “ตำบลท้อแท้” ไม่ได้เปลี่ยนให้ไพเราะเพราะพริ้งแต่อย่างใด

ดังเช่น ‘สภาองค์กรชุมชนตำบลท้อแท้’ ที่รวมกลุ่มกันแก้ไขปัญหาหนี้สิน ข้าวเปลือกราคา ตกต่ำ ปัญหาโรคภัยไข้เจ็บจากการกินพืชผัก อาหารที่มีสารเคมีตกค้าง ฯลฯ
(หมายเหตุ : สภาองค์กรชุมชนตำบลจัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 มีเจตนารมณ์เพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง โดยประชาชนในตำบลรวมกลุ่มกันจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนฯ ขึ้นมา เพื่อใช้สภาฯ เป็นเวทีปรึกษาหารือการพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่างๆ ในตำบลทุกมิติ ปัจจุบันมีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลทั่วประแทศแล้ว 7,793 แห่ง

ดูรายละเอียดได้ที่ http://web.krisdika.go.th/data/law/law2/%CA77/%CA77-20-2551-a0001.htm)

 

ใช้หลักการ SWOT จัดทำแผนพัฒนาตำบล

‘ลุงเวทย์ พูลหน่าย’ ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลท้อแท้ เล่าว่า แกนนำในตำบลรวมกลุ่มกันจัดตั้ง ‘สภาองค์กรชุมชนตำบลท้อแท้’ ขึ้นมาในปี 2551 โดยมีกลุ่มต่างๆ ในตำบลจำนวน 59 กลุ่มเข้าร่วม ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ หลังจากนั้น พอช.ได้จัดอบรมให้ความรู้แก่ผู้นำและสมาชิกในด้านต่างๆ เช่น การวิเคราะห์ข้อมูลปัญหา จุดอ่อน จุดแข็ง และอุปสรรคในตำบล (ตามหลักการ SWOT) เพื่อนำข้อมูลมาจัดทำแผนแม่บทหรือแผนพัฒนาตำบล

จากการจัดเวทีวิเคราะห์ปัญหาในตำบลท้อแท้อย่างเป็นระบบ (ใช้หลักการวิเคราะห์แบบ SWOT คือ S = Strengths จุดแข็ง, W = Weaknesses จุดอ่อน, O = Opportunities โอกาสที่จะส่งเสริมธุรกิจ, T = Threats อุปสรรคในการทำธุรกิจ) ลุงเวทย์บอกว่า ตำบลท้อแท้มี จุดแข็ง คือ ชุมชนมีทรัพยากร คือ มีพื้นที่เหมาะสมในการทำนา เพราะที่ตั้งของตำบลอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำแควน้อย สามารถนำน้ำมาทำนาได้ปีละ 2 ครั้ง

ส่วน จุดอ่อน หรือปัญหาที่พบของตำบล เช่น 1.ปัญหาหนี้สินจากการทำนา เพราะชาวนาปลูกข้าวพันธุ์ กข. เพื่อขาย ให้โรงสีเอาไปผลิตเป็นแป้งหรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ เมื่อขายข้าวเปลือกแล้วก็ต้องซื้อข้าวสารมากิน ต้องใช้ปุ๋ยและสารเคมีในการทำนามาก ทำให้ต้นทุนการผลิตสูง เกิดปัญหาหนี้สินติดตามมา 2.ปัญหาสุขภาพ ความเจ็บไข้ได้ป่วยจากการใช้สารเคมีในไร่นา ฯลฯ
ส่วน โอกาส คือ ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการผลิต เพื่อลดต้นทุน เพิ่มรายได้ อุปสรรค คือ ข้าวและผลผลิตทางการเกษตรราคาตกต่ำ

ค้นพบปัญหา เปลี่ยนวิธีทำนา

ลุงเวทย์เล่าต่อไปว่า เมื่อวิเคราะห์ปัญหาได้แล้ว สภาองค์กรชุมชนตำบลฯ จึงมาพูดคุยกันต่อเพื่อจัดทำแผนการแก้ไขปัญหา และได้ข้อสรุปว่า จะต้องเปลี่ยนพันธุ์ข้าว จากเดิมที่ใช้ข้าวพันธุ์ กข. ซึ่งต้องใช้ปุ๋ยและสารเคมีมาก และไม่เหมาะที่จะนำมากิน ต้องขายให้โรงสีอย่างเดียว จึงเปลี่ยนมาเป็นข้าวพันธุ์หอมมะลิ 105 ที่มีต้นทุนการปลูกต่ำกว่า แต่ขายได้ราคาดีกว่า และยังเก็บเมล็ดพันธุ์มาปลูกในปีต่อๆ ไปได้ อีกทั้งข้าวหอมมะลิยังมีความนุ่ม กินอร่อย เมื่อปลูกแล้วก็ไม่ต้องซื้อข้าวจากพ่อค้ามากิน แต่กว่าจะเริ่มปลูกข้าวพันธุ์ใหม่ได้ก็ในราวปี 2553 เพราะต้องใช้วิธีการรณรงค์ ทำเป็นตัวอย่างให้ดู โดยเฉพาะในแปลงนาของตัวแกเอง ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 35 ไร่

“นอกจากนี้จะต้องรณรงค์ให้สมาชิกปลูกข้าวแบบปลอดภัย ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีหรือสารเคมี หรือค่อยๆ ลดให้น้อยลง แล้วหันมาทำปุ๋ยหมักใช้เอง โดยเชิญเจ้าหน้าที่เกษตรมาอบรมให้ความรู้เรื่องการทำปุ๋ย ทำน้ำหมักชีวภาพไล่แมลง ปลูกแล้วกินได้ ไม่ต้องซื้อข้าวกิน ทำให้ลดรายจ่าย ขายข้าวได้ราคาสูงขึ้น จากเดิมปลูกข้าว กข. ขายได้ตันละประมาณ 8,000 บาท เมื่อเปลี่ยนพันธุ์มาเป็นข้าวหอมมะลิปลอดสารเคมี ทำให้ขายได้ราคาสูงถึงตันละ 13,000 บาท และลดต้นทุนทำนาได้ประมาณไร่ละ 3,000 บาท”
ลุงเวทย์อธิบายต่อว่า การทำนาแบบเดิมต้องใช้สารเคมีฉีดพ่นไร่นา ทำให้ชาวนาสะสมสารเคมีเอาไว้ในร่างกาย ปู ปลาในนาก็เอามากินไม่ได้ เพราะมีสารเคมีสะสมเหมือนกัน และเมื่อไปซื้อผักในตลาดมากินก็จะมีสารเคมีอีก เช่น ผักกาด ผักชีคะน้า กระหล่ำปลี ฯลฯ เมื่อคนในตำบลท้อแท้ไปตรวจเลือดจะพบว่าในเลือดมีสารพิษต่างๆ ตกค้าง ทำให้เกิดความเจ็บป่วยได้ง่าย
ดังนั้นสภาองค์กรชุมชนฯ จึงรณรงค์ให้สมาชิกทั้ง 8 หมู่บ้าน ปลูกผักเอาไว้กินเอง รวมทั้งเลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ ปลูกผลไม้ เอาไว้กินและขาย ทำปุ๋ย ทำน้ำหมักชีวภาพใช้ เพื่อให้มีอาหารปลอดภัย ไม่ต้องซื้อหา ลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้สมาชิกจัดทำบัญชีครัวเรือน เพื่อให้รู้รายรับ-รายจ่าย และตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป โดยพึ่งพาตัวเองให้มากที่สุด โดยมีสมาชิกอย่างน้อยหมู่บ้านละ 2 ครอบครัวเป็นต้นแบบและนำไปขยายผล

“กินอิ่ม นอนอุ่น หุ่นดี หนี้ลด”

เดช หาญทองช่วง รองประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลท้อแท้ กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันมีกลุ่มต่างๆ ในตำบลท้อแท้เป็นสมาชิกสภาฯ จำนวน 39 กลุ่ม มีการประชุมสภาฯ อย่างน้อยปีละ 4-5 ครั้ง โดยมีสมาชิกสภาฯ จากหมู่ต่างๆ เข้าร่วมประชุมหมู่ละ 4 คน ส่วนใหญ่จะพูดคุยเรื่องปัญหาปากท้อง เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะในขณะนี้มีปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำในการทำนา เพราะกรมชลประทานมีคำสั่งให้ชาวนาทำนาปีละ 1 ครั้ง เพราะปัญหาภัยแล้ง และตอนนี้ (มิถุนายน 2563) ฝนก็ยังไม่ตก ไม่มีน้ำจะทำนา คงจะต้องใช้เวทีสภาองค์กรชุมชนฯ มาพูดคุยหาทางแก้ปัญหา

ขณะที่ครอบครัวของลุงเวทย์ พูลหน่าย ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลท้อแท้ ดูเหมือนจะไม่ทุกข์ร้อนมากนัก เพราะครอบครัวของแกใช้พื้นที่รอบบ้านประมาณ 4 ไร่ให้เป็นประโยชน์ทุกตารางนิ้ว ทั้งปลูกผัก ผลไม้ เลี้ยง ปลา ไก่ ปูนา ฯลฯ เรียกว่าเดินไปทางไหนก็เจอแต่ของกิน และยังมีข้าวสารนำมาบรรจุขายทั้งทางออนไลน์และขายตามตลาดนัด จนกลาย ‘ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตำบลท้อแท้’ ที่มีผู้คนมาศึกษาเรียนรู้ตลอดปี

หากไล่เรียงดูจะเห็นว่าบริเวณรอบๆ บ้านของลุงเวทย์จะปลูกผักและผลไม้ต่างๆ ไม่ต่ำกว่า 20 ชนิด เช่น ผักบุ้ง มะระขี้นก ตำลึง ชะอม คะน้าเม็กซิกัน (ผักไชยา) พริกขี้หนู ข่า ตะไคร้ มะกรูด มะนาว มะพร้าว มะละกอ กล้วย ขนุน มะม่วง แก้วมังกร มะขาม ฯลฯ เลี้ยงปลาดุก ปลานิล ปลาทับทิม รวม 5 บ่อ เลี้ยงไก่ไข่เกือบ 30 ตัว นอกจากนี้แกยังจับปูนามาทดลองเลี้ยงในบ่อ มีพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ ประมาณ 100 ตัว แบ่งเลี้ยงในบ่อเล็ก 4 บ่อ บ่อใหญ่ 1 บ่อ ใช้อาหารปลาเลี้ยง

“วันๆ หนึ่ง เฉพาะเก็บผักขายก็จะได้ประมาณ 300 บาท จะกินอะไรก็หาเอาจากรอบๆ บ้าน ไม่ต้องซื้อคนอื่นกิน เพราะเรามีเกือบทุกอย่าง ข้าวสารก็ยังมี ใช้โรงสีของสมาชิกสีข้าวเปลือกกิน เหลือก็เอาไปขาย ผักของเราปลูกเอง ไก่ ปลา ก็ไม่ใช้สารเคมี กินเข้าไปแล้วก็ไม่เจ็บป่วย ตอนนี้ไปตรวจเลือดก็ไม่เจอสารเคมีตกค้าง เราจึงมีคำขวัญตำประจำบลว่า ‘กินอิ่ม นอนอุ่น หุ่นดี หนี้ลด’ เพราะเราทำเอง กินเอง จึงปลอดภัย สุขภาพร่างกายก็แข็งแรง หุ่นก็ดี และไม่มีหนี้สิน” ลุงเวทย์สาธยาย

‘ธนาคารไก่’ สู้พิษเศรษฐกิจ-โควิด

ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ได้จัดทำโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบท เพื่อสนับสนุนให้ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจในช่วงสถานการณ์โควิด-19 จัดทำโครงการต่างๆ ขึ้นมา เพื่อแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ

สภาองค์กรชุมชนตำบลท้อแท้จึงร่วมกับชุมชนตำบลต่างๆ ใน จ.พิษณุโลก เสนอโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ โดยได้รับงบสนับสนุน 45,000 บาท (งบรวม 17 ตำบล 7 อำเภอ รวม 765,000 บาท) เพื่อนำมาทำโครงการ ‘ธนาคารไก่’ โดยจะเริ่มในเร็วๆ นี้ เพื่อซื้อไก่พันธุ์ไข่ที่พร้อมจะให้ไข่ (อายุ 5-6 เดือน) มอบให้แก่ครัวเรือนที่มีฐานะยากจนหรือด้อยโอกาส ประมาณ 25 ครอบครัวๆ ละ 5 ตัว เพื่อให้มีไข่กินตลอดปี อย่างน้อยวันละ 5 ฟอง และให้ครอบครัวที่นำไก่ไปเลี้ยง คืนไข่เข้ากองทุนตัวละ 10 ฟอง (รวม 50 ฟองต่อ 1 ครอบครัว) ภายในระยะเวลา 3 เดือน เพื่อนำเงินจากการขายไข่ไปซื้อไก่มาแจกครอบครัวอื่นต่อไป

“โครงการธนาคารไก่นี้เราจะใช้ไก่ที่เลี้ยงง่าย ให้ไข่ดก ครอบครัวละ 5 ตัว วันหนึ่งจะมีไข่กินอย่างน้อย 4-5 ฟอง ไก่ตัวหนึ่งจะให้ไข่ได้ 2-3 ปี หากแต่ละครอบครัวเลี้ยงไก่เพิ่มก็จะมีไข่กินทุกวันตลอดปี เหลือก็เอาไปขาย หากไก่หมดไข่ ก็เอามาทำเป็นอาหารได้อีก” ลุงเวทย์ ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลท้อแท้บอกทิ้งท้าย

นี่คือตัวอย่างของการแก้ไขปัญหาเรื่องปากเรื่องท้องของคนตำบลท้อแท้ แต่ไม่ท้อถอย โดยใช้สภาองค์กรชุมชนตำบลเป็นเครื่องมือ เพื่อนำไปสู่ความ “กินอิ่ม นอนอุ่น หุ่นดี หนี้ลด” ของคนในตำบลท้อแท้ !!

ADS Fix3
ADS Fix5