ดูถ่ายทอดสด "อัพเดตทุกเรื่องราวข่าวสารวงการไก่ชน ดูถ่ายทอดสดไก่ชน ครบทุกสนาม ทีเด็ดไก่ชน อัพเดทข่าวไก่ชนทุกประเด็นที่น่าสนใจ แหล่งความรู้สาระเรื่องที่เป็นประโยชน์ผู้เลี้ยงไก่ชน"

ไฮไลท์ไก่ชนล่าสุด

B1
ADS B2
ADS B3
ADS B4
หน้าหลัก ข่าวสารไก่ชน ข่าวไก่ชนออนไลน์ ไก่สวยซุ้มดัง อย่ามองข้าม “อาชีพการเลี้ยงไก่ ”ตลาดโตทุกปี สร้าง “เศรษฐี” หน้าใหม่ได้ตลอด

อย่ามองข้าม “อาชีพการเลี้ยงไก่ ”ตลาดโตทุกปี สร้าง “เศรษฐี” หน้าใหม่ได้ตลอด

วันอาทิตย์ 02 สิงหาคม 2563 ยอดเข้าชม 154
SHARE ON:

อย่ามองข้าม “อาชีพการเลี้ยงไก่ ”ตลาดโตทุกปี สร้าง “เศรษฐี” หน้าใหม่ได้ตลอด
“ ไก่ ” นับเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย การผลิตไก่เนื้อของไทยมีอัตราเติบโตอย่างต่อเนื่อง  จากปริมาณความต้องการบริโภคไก่ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากมีการขยายตลาดส่งออกเป็นหลัก ประกอบกับการเติบโตของตลาดในประเทศ และต้นทุนการผลิตที่ลดต่ำลงตามราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ เป็นต้น

ไก่เนื้อ

“ไก่เนื้อ” หรือ “ ไก่กระทง ” เป็นสายพันธุ์ไก่เชิงพาณิชย์ ที่เน้นผลิตในปริมาณมากเพื่อให้ได้ผลกำไรสูงสุด แต่มีต้นทุนต่ำสุด ไก่เนื้อส่วนใหญ่ถูกนำเข้าสายพันธุ์มาจากบริษัทเอกชนผู้จำหน่ายสายพันธุ์สัตว์ในซีกโลกตะวันตก เช่น สหรัฐอเมริกา ฯลฯ ที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาสายพันธุ์ไก่เนื้อที่โตเร็ว กินอาหารได้มาก ใช้ระยะเวลาการเลี้ยงสั้นเพียงไม่กี่สัปดาห์ก็จับไก่ออกขายได้แล้ว ราคาไก่เนื้อไม่สูงนัก ผู้เลี้ยงก็อยู่ได้ เพราะว่าต้นทุนการผลิตต่ำ

ปัจจุบัน ไก่เนื้อ 1 ตัว ระยะเวลาการเลี้ยง 30-35 วัน เลี้ยงด้วยอาหารไก่กระทงอย่างเต็มที่ เมื่อครบกำหนดสามารถจับไก่ออกขาย จะได้น้ำหนักตัวเฉลี่ยตัวละประมาณ 1.8-2 ก.ก. โดยอัตราการเปลี่ยนอาหารเป็นเนื้อ (FCR )จะอยู่ที่ประมาณ 1.65-1.8 ก.ก. เนื่องจาก ไก่เนื้อที่นำมาปรุงอาหาร ยังเติบโตได้ไม่เต็มที่ เนื้อหนังยังอ่อนนุ่ม และเลี้ยงขังในโรงเรือนแบบปิด โดยไม่มีการออกกำลังกาย ไก่เนื้อส่วนใหญ่จึงมีปริมาณไขมันสูงตามไปด้วย รสชาติไม่ค่อยอร่อยนัก

 

ผลผลิตไก่เนื้อส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 มาจากผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ดำเนินธุรกิจครบวงจร ส่วนร้อยละ 10 เป็นผลผลิตจากฟาร์มเลี้ยงไก่ของเกษตรกรรายย่อย และจากการปรับปรุงโครงสร้างการผลิตไปสู่ระบบฟาร์มที่มีการควบคุมดูแลตามมาตรฐานสากลอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมาตรการคุมเข้มเพื่อป้องกันโรคระบาดในฟาร์มเลี้ยงไก่ หลังเกิดวิกฤตโรคหวัดนกในปี 2547 ส่งผลให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตไก่เนื้อเป็นอันดับต้นๆของโลก โดยไม่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคไข้หวัดนกในปัจจุบัน

ทุกวันนี้อุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่เนื้อ ส่วนใหญ่ ใช้เงินลงทุนสูง อยู่ในความดูแลของบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ เพียงไม่กี่ราย ทั้งบริษัทจะโดยส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงไก่เนื้อ ใน“ระบบเกษตรพันธสัญญา” หรือ “Contract Farming” โดยจัดหาปัจจัยการผลิต เช่น พันธุ์ไก่ อาหารสัตว์ ยาสัตว์ของบริษัทมาใช้ในฟาร์มเกษตรกร เมื่อครบกำหนดจะรับซื้อผลผลิตคืนในราคาประกัน

เกษตรกรที่ทำเกษตรพันธะสัญญาส่วนใหญ่มีรายได้ดีกว่าเดิม และไม่มีความเสี่ยงทางด้านตลาดเพราะมีตลาดรองรับซื้อผลผลิตแน่นอน สามารถขายได้ในราคาที่ชัดเจน นอกจากนี้ บริษัทยังช่วยสนับสนุนข้อมูล ข่าวสารการตลาด เพิ่มพูนเทคโนโลยีการผลิตอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกษตรกรที่เลี้ยงไก่เนื้อในระบบเกษตรพันธสัญญาสามารถปรับตัวสอดคล้องกับกระแสโลกาภิวัตน์และการผันผวนของราคาและผลผลิตภาคเกษตร

ไก่พื้นเมือง

“ ไก่พื้นเมือง”หรือ “ ไก่พื้นบ้าน ”เป็นสัตว์เศรษฐกิจสำคัญในชุมชนและท้องถิ่นและเป็นแหล่งอาหารที่สร้างความมั่นคงทางอาหารให้คนไทยมาตลอด โดยเลี้ยงเพื่อป้อนตลาดไก่เนื้อและไข่ไก่ โดยไก่พื้นเมืองที่นิยมเลี้ยงกันมากและเป็นที่ต้องการของตลาด ได้แก่ ไก่ที่มีผิวหนังสีเหลืองและสีขนดำ เป็นต้น

การเลี้ยงไก่เนื้อพื้นเมืองแบบปล่อยอิสระตามธรรมชาติ ใช้ระยะเวลาการเลี้ยงนานกว่าการผลิตไก่เนื้อประมาณ 2 เท่า แถมกินอาหารมากกว่าไก่เนื้อ แต่เปลี่ยนเป็นเนื้อได้น้อยกว่า อย่างไรก็ตาม เนื้อไก่พื้นบ้านกลับมีรสชาติอร่อยกว่าและมีคุณประโยชน์ทางโภชนาการสูงกว่าไก่เนื้อที่ผลิตในเชิงพาณิชย์เสียอีก ที่สำคัญ ราคาไก่บ้านไทยสูงกว่าไก่เนื้อ แต่ผู้บริโภคก็ยินดีจ่ายเพิ่มขึ้นเพื่อให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพดีกว่า ในแง่ของรสชาติอร่อย และเนื้อสัมผัสที่เหนียวนุ่ม แต่มีคอเลสเตอรอลต่ำกว่าไก่เนื้อ


ไก่เก้าชั่ง                                                         ไก่เขียวพาลี


ทุกวันนี้ “ ไก่พื้นเมือง” กลายเป็นอาชีพทางเลือกของเกษตรกรรายย่อย เพราะใช้เงินทุนน้อย ดูแลจัดการง่าย ทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และทนต่อการเป็นโรคได้ดี ความนิยมของไก่พื้นบ้านนั้นแยกออกได้เป็น 3 ลักษณะ คือ การบริโภคเนื้อไก่บ้าน การเลี้ยงในลักษณะไก่สวยงาม และการเลี้ยงไว้เพื่อกีฬาชนไก่

การเลี้ยงแบบปล่อยตามธรรมชาติ คือ ลักษณะเด่นของการเลี้ยงไก่พื้นบ้าน ซึ่งสอดคล้องกับกระแสการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำให้ธุรกิจไก่พื้นบ้านเป็นธุรกิจที่มีอนาคตสดใส ไก่พื้นบ้านในประเทศไทยจำแนกได้เป็น 4 พันธุ์ใหญ่ๆ คือ ไก่อูหรือไก่ชน ไก่แจ้ ไก่ตะเภา และไก่ลูกผสมหรือไก่กลายพันธุ์ ไก่พื้นเมืองไทยยังมีคุณลักษณะเด่นโดยเฉพาะเนื้อแน่น และรสชาติอร่อย จึงเป็นที่นิยมบริโภค

     
ไก่ชี้ฟ้า                                                                 ไก่เบตง


ไก่พื้นบ้านที่เลี้ยงกันอยู่ในปัจจุบันมีความแตกต่างกันออกไปในเรื่องของพันธุ์ และสายพันธุ์ตามสภาพท้องที่ต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น ไก่แม่ฮ่องสอน ไก่แม่ฟ้าหลวง ไก่ชี้ฟ้า (ภาคเหนือ) ไก่คอล่อน ไก่เบตง (ภาคใต้) ไก่เหลืองหางขาว หรือ ไก่ชนนเรศวร (ภาคเหนือตอนล่าง พิษณุโลก) ไก่ประดู่หางดำ หรือไก่พ่อขุน ( สุโขทัย) ไก่เขียวหางดำ หรือ ไก่พระยาพิชัย (อุตรดิตถ์)

ระยะหลังเกษตรกรหันมาเลี้ยงไก่พื้นเมืองกันเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ ไก่พันธุ์ประดู่หางดำ ไก่พันธุ์เหลืองหางขาว ไก่พันธุ์แดง ไก่พันธุ์ชี และไก่พื้นเมืองลูกผสม ฯลฯ เพราะแรงจูงใจจากการขายไก่พื้นเมืองได้ราคาสูงกว่าไก่เนื้อ แถมเนื้อไก่พื้นเมืองก็มีรสชาติอร่อย จึงมีคนไทยหันมาบริโภคไก่พื้นเมืองมากขึ้นทุกปี สร้างรายได้สะพัดไม่ต่ำกว่าปีละ 34,936 ล้านบาท

กีฬา “ ชนไก่” เป็นกิจกรรมสันทนาการที่สร้างความสนุกสนานในแต่ละครั้ง แล้ว ยังช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม “ไก่เก่ง” ได้อย่างมหาศาล ไม่ต่ำกว่า 10-100เท่าตัวกันทีเดียว คาดว่ามีจำนวนไก่ชนในประเทศประมาณ 16-17 ล้านตัว ซึ่งถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับปริมาณความต้องการของตลาด ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

“ไก่ย่าง” เป็นอาหารเมนูหลักของชาวอีสาน ที่แปรรูปมาจากไก่พื้นเมือง เช่น “ไก่เนื้อโคราช” ที่มีลักษณะเด่นคือ เลี้ยงง่าย ทนโรค ทนแล้ง โตไว ใช้เวลาเลี้ยงแค่ 2 เดือนจะได้ไก่เนื้อตัวละ 1.2 กก.ออกขายได้แล้ว ไก่เนื้อโคราช มีคุณสมบัติด้านรสสัมผัสของเนื้ออยู่ระหว่างกลางของไก่เนื้อกับไก่พื้นเมืองไม่นุ่มเละเหมือนไก่เนื้อ ไม่เหนียวแข็งเหมือนไก่พื้นเมือง

 

          

           ไก่ย่างท่าช้าง                                       ไก่สายพันธุ์โคราช


เมื่อนำไปปรุงอาหาร “ ไก่เนื้อโคราช ”จะให้รสสัมผัสเหนียวนุ่ม ชุ่มฉ่ำ ติดสปริง อร่อยแบบไก่ไทย โตเต็มวัยเหมือนไก่ฝรั่ง จัดอยู่ในกลุ่มเนื้อไก่เพื่อสุขภาพ เพราะมีโปรตีนสูง มีคอลลาเจนสูงกว่าไก่เนื้อ 2 เท่า แต่มีไขมันและคอเลสเตอรอลต่ำ มีกรดไขมันโอเมก้า-3 ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ทำให้ “ ไก่เนื้อโคราช ”ตอบโจทย์สำหรับคนที่รักสุขภาพได้ดี

ที่ผ่านมา กรมปศุสัตว์ประสบความสำเร็จในการพัฒนาสายพันธุ์ไก่พื้นเมือง 4 สายพันธุ์ ได้แก่ ไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่ ไก่เหลืองหางขาวกบินทร์ ไก่แดงสุราษฎร์ และ ไก่ชีท่าพระ โดยการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ( สกว). ตั้งแต่ปี 2545- 2550

ซึ่งผลงานวิจัยดังกล่าว ทำให้เมืองไทยได้ไก่พื้นเมืองพันธุ์แท้ที่มีลักษณะประจำพันธุ์ที่แน่นอน เหมาะสำหรับการเลี้ยงเชิงพาณิชย์ หากมีวางแผนการเลี้ยงและการจัดการที่ดี จะให้ผลผลิตสูงกว่าไก่พื้นเมืองทั่วไป เพราะมีการเจริญเติบโตที่รวดเร็วกว่า ที่สำคัญเกษตรกรสามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าได้ โดยเปิดเป็นโรงฆ่าและลงทุนเปิดร้านค้าจำหน่ายเนื้อไก่สด ซึ่งจะเป็นการพัฒนาอาชีพที่ครบวงจรและยั่งยืน

 

           ไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์


กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เล็งเห็นความสำคัญของตลาด “ ไก่พื้นเมือง ” จึงมอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) และกรมปศุสัตว์ จัดสร้างมาตรฐานสินค้าเกษตรเรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มไก่พื้นเมือง เพื่อเป็นแนวทางให้เกษตรกรรายย่อยสามารถปฏิบัติและพัฒนาฟาร์มเลี้ยงไก่พื้นเมืองเข้าสู่ระบบมาตรฐาน และพัฒนาคุณภาพเนื้อไก่พื้นเมืองให้สะอาดและปลอดภัย เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคในวงกว้าง รวมทั้งลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาดสัตว์ปีก ส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่พื้นเมืองได้ผลผลิตคุณภาพสูงขึ้นและมีรายได้เพิ่มขึ้นในอนาคต

มาตรฐานฯ ดังกล่าว ครอบคลุมการเลี้ยงไก่พื้นเมืองไทยและไก่พื้นเมืองลูกผสม และมีการกำหนดเกณฑ์การเลี้ยงไก่พื้นเมืองแบบเลี้ยงปล่อยอิสระ (Free-range) ภายนอกโรงเรือนอย่างเพียงพอไม่น้อยกว่าวันละ 8 ชั่วโมง เพื่อให้ไก่พื้นเมืองมีความเป็นอยู่ตามธรรมชาติ มีต้นไม้เป็นร่มเงาให้ไก่ได้พักผ่อน มีหญ้าหรือพืชที่เป็นอาหารให้ไก่จิกกิน อย่างน้อยร้อยละ 40 ของพื้นที่

โดยแปลงปลูกพืชดังกล่าวต้องมีการหมุนเวียนพักแปลง หากพืชอาหารไม่เพียงพอ สามารถเสริมหญ้าหรือพืชจากภายนอกได้ ซึ่งรูปแบบการเลี้ยงดังกล่าว แตกต่างจากการเลี้ยงไก่เนื้อ และไก่ไข่เชิงพาณิชย์ ที่เลี้ยงในโรงเรือนแบบปิด

 

          
                  ไก่แม่ฟ้าหลวง                                                   ไก่เหลืองหางขาวกบินทร์


เมื่อมาตรฐานฯ ไก่พื้นเมืองถูกประกาศใช้ ช่วยยกระดับอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่พื้นเมืองให้เติบโตแบบก้าวกระโดดกันเลยทีเดียว เพราะอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่เนื้อ – ไก่ไข่ มีมาตรฐานฟาร์มครบวงจรหมดแล้ว ทั้ง GAP, GMP และอื่นๆ เหลือแต่ ไก่พื้นเมือง เท่านั้น ที่ต้องเร่งปรับตัวเข้าสู่มาตรฐานฟาร์มอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาโอกาสทางการค้าและขยายช่องทางการตลาดโดยเฉพาะกลุ่มตลาดโมเดิร์นเทรด และภัตตาคารร้านอาหารระดับพรีเมี่ยม ที่สนใจซื้อเนื้อไก่พื้นเมืองเป็นวัตถุดิบปรุงอาหารเมนูพิเศษกันมากขึ้น เพราะไก่พื้นเมืองมีรสชาติดี เนื้อสัมผัสเหนียวนุ่ม มีไขมันต่ำ นำมาปรุงอาหารได้อร่อย

ประเทศไทยมีไก่พื้นเมืองลักษณะดีจำนวนมาก ที่สามารถต่อยอดขยายสู่การเลี้ยงเชิงพาณิชย์ในอนาคต เพราะอยู่ในกลุ่มสินค้าขายดี มีศักยภาพทางการตลาดที่สดใสมาก เป็นที่ต้องการของผู้ซื้อทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพียงแต่ว่าตอนนี้การเลี้ยงไก่บ้านไทยยังไม่แพร่หลายมากนัก กำลังการผลิตกับความต้องการของตลาดยังไม่สอดคล้องกัน จึงอยากเชิญชวนผู้สนใจหันมาลงทุนเลี้ยงไก่พื้นบ้าน เพื่อสร้างงานสร้างเงินอย่างยั่งยืนในอนาคต

ADS Fix3
ADS Fix5