ความเป็นมาของ “ไก่ชนยอดนักสู้”
ความเป็นมาของ “ไก่ชนยอดนักสู้”
เมื่อการชนไก่กลายสภาพจากกีฬาพื้นบ้านสู่ธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนงาม จนทำให้สังเวียนไก่ชนเป็นมากกว่าสนามกีฬา นักสู้ติดปีกผู้ไม่อาจเลือกทางเดินสายอื่นคงไม่เคยรู้ว่า เลือดเนื้อที่มันต้องสังเวยจะถูกแปรเปลี่ยนเป็นผลประโยชน์ที่ตกอยู่ในมือใคร
ต้นกำเนิดไก่ชนในประเทศไทย
แม้จะไม่มีใครสามารถระบุช่วงเวลาที่แน่ชัด ของต้นกำเนิดไก่ชนในประเทศไทยได้ แต่หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่บรรดาผู้ศึกษาตำนานไก่ชนมักนำมากล่าวอ้างอยู่เสมอ คือภาพจิตรกรรมฝาผนัง แสดงการเล่นชนไก่ของพระนเรศวร กับพระมหาอุปราชา ที่เมืองหงสาวดี ฝีมือพระยาอนุศาสตร์จิตรกร (จัน จิตรกร) ภายในวิหารวัดสุวรรณดาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีคำบรรยายว่า “พระนเรศวรเมื่ออยู่หงสาวดี เล่นพนันไก่กับมังสามเกลียด มังสามเกลียดก็ว่าไก่เชลยเก่ง พระนเรศวรตรัสตอบว่า ไก่เชลยตัวนี้จะพนันเอาเมืองกัน ต่างองค์ต่างไม่พอใจในคำตรัส พ.ศ. 2121 พระชันษา 23 ปี”
หากอ้างอิงตามข้อความดังกล่าวก็แสดงว่า คนไทยเลี้ยงและตีไก่ชนมาไม่น้อยกว่า 400 ปี ขณะที่ผู้รู้บางท่านเชื่อว่าน่าจะสืบย้อนไปได้ถึงสมัยสุโขทัยหรือศรีวิชัยเลยทีเดียว ส่วนประวัติศาสตร์ของชนชาติอื่นนั้น สามารถย้อนกลับไปถึงสมัยก่อนคริสตกาล ซึ่งถือว่าไก่ชนเป็นส้ตว์ที่ควรเคารพนับถือ บันทึกของดีโอโดรัส ซีคูลัส นักประวัติศาสตร์ชาวกรีก ระบุว่า ชาวซีเรียโบราณบูชาไก่ชนเยี่ยงเทพเจ้า ขณะที่ชาวกรีกและโรมันเชื่อมโยงไก่ชนกับเทพอพอลโล เมอร์คิวรีและมาร์ส
ทว่าหน้าประวัติศาสตร์กลับไม่เคยบันทึกถึงจุดเริ่มต้นในการนำไก่มาชนกันเป็นเกมกีฬา ได้แต่ประมาณว่าเมื่อ 3,000 ปีล่วงมาแล้ว ในสมัยฟีนิเชียน ฮิบรูและคานาไนตส์ การชนไก่ไม่เพียงเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง แต่การเลี้ยงไก่เพื่อลงชิงชัยในสังเวียนยังถือเป็นศิลปะประเภทหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีการค้าขายไก่ชนอีกด้วย ล่วงมาถึงยุคคริสตกาล จูเลียส ซีซาร์ ทรงชักนำให้ชาวโรมันสนุกสนานกับกีฬาชนไก่ และยังนำเข้าไปเผยแพร่ในเกาะอังกฤษ รวมทั้งประเทศในภาคพื้นยุโรปอย่างสเปน และฝรั่งเศสด้วย
“พวกเอ็งมีอะไรดีนักหนาหรือ จึงพาให้ผู้คนหลงใหลได้ถึงเพียงนี้” ผมตั้งคำถามกับเจ้าสัตว์ปีกนักสู้ผู้ทระนง ที่กำลังยืนยืดอกโก่งคอคล้ายกำลังส่งเสียงขันกังวาลบนปกหน้านิตยสารไก่ชนเล่มหนึ่ง หลังจากพลิกผ่านตา ผมก็ต้องประหลาดใจ เพราะบทความและโฆษณาในเล่ม ล้วนบ่งบอกความเป็นธุรกิจของวงการไก่ชนมากกว่าที่จะเป็นกิจกรรมเล็กๆ ในชุมชนห่างไกลความเจริญเช่นในอดีต หน้าโฆษณาสี่สีเกือบทั้งหมดเป็นการเสนอขายลูกไก่ชนสายพันธุ์แชมป์ ทั้งไทยแท้ ลูกผสมพม่า ลูกผสมเวียดนาม (ไซ่ง่อน) ของฟาร์มทั่วประเทศ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความชำนาญของแต่ละแห่ง
“เอก อิ๊ เอ้ก เอ้ก” เจ้าโต้งแข่งกันแผดเสียงขันก้องกังวาลอย่างที่คนเมื่องรุ่นใหม่ อาจไม่เคยได้ยินออกมาจากสุ่มที่วางเรียงรายหลายสิบลูกบนผืนพรม เสียงที่แว่วมาไม่ขาดสายตั้งแต่ผมขับรถเข้าใกล้โชคบัญชาฟาร์ม จังหวัดนครปฐม ช่วยทำให้ผมมั่นใจว่าคงไม่ต้องกลับรถอีกเป็นรอบที่สาม
รถขับเคลื่อนสี่ล้อค่อยๆเคลื่อนผ่านแอ่ง น้ำยาฆ่าเชื้อเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดนก ตามมาตรการที่อาจเล็ดรอดเข้ามา ตามมาตรการที่เข้มงวดจนลูกค้าออกปากเหน็บแนมว่า “ยากยิ่งกว่าไปร้านทองเสียอีก” เมื่อรถผ่านน้ำยาเข้ามาแล้ว ยังต้องพ่นยาฆ่าเชื้อที่คน ซึ่งต้องสวมรองเท้าบูตและล้างมือให้สะอาดก่อนจะจับไก่ ในช่วงที่มีการระบาดของโรค นอกจากฉีดยาในฟาร์มทั้งเช้าและเย็นแล้ว ยังห้ามนำรถเข้ามาในฟาร์มเด็ดขาดด้วย “ความสะอาดคือสิ่งสำคัญครับ” บัญชา ปัญญาวานิชกุล เจ้าของฟาร์มและเกษตรกรดีเด่น สาขาเลี้ยงสัตว์ (ไก่ชน) ประจำปี 2546 ให้เหตุผล
สำหรับความเสียหายของเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ชน จากการระบาดของเชื้อไข้หวัดนกนั้น นายสัตวแพทย์ ชัย วัชรงค์ อุปนายกสมาคมส่งเสริมอาชีพไก่ชนไทย บอกผมด้วยคำพูดสั้นๆคำเดียว แต่สีหน้าบ่งบอกความรู้สึกอย่างชัดเจนว่า “รุนแรง” เขาจำแนกปัญหาออกเป็น 3 กรณีว่า การไม่อนุญาตให้ใช้วัคซีนป้องกันโรคทำให้ไก่พื้นเมืองและไก่ชนล้มตายไปไม่น้อยกว่า 20 ล้านตัว การห้ามทำกิจกรรมชนไก่ส่งผลต่อชาวบ้านที่เพาะเลี้ยงไก่ชน เพราะไม่รู้จะเอาไปไก่ไปทำอะไร และการห้ามการเคลื่อนย้ายส่งทำให้กิจกรรมการชนไก่ซบเซา
แหล่งที่มา วิถีชีวิตเกษตรพอเพียง