ดูถ่ายทอดสด "อัพเดตทุกเรื่องราวข่าวสารวงการไก่ชน ดูถ่ายทอดสดไก่ชน ครบทุกสนาม ทีเด็ดไก่ชน อัพเดทข่าวไก่ชนทุกประเด็นที่น่าสนใจ แหล่งความรู้สาระเรื่องที่เป็นประโยชน์ผู้เลี้ยงไก่ชน"

ไฮไลท์ไก่ชนล่าสุด

B1
ADS B2
ADS B3
ADS B4
หน้าหลัก บทความไก่ชน ชะตากรรมของไก่

ชะตากรรมของไก่

วันพฤหัสบดี 02 กรกฎาคม 2563 ยอดเข้าชม 110
SHARE ON:

ชะตากรรมของไก่  

ไก่เป็นสัตว์ที่พัวพันอยู่กับชีวิตคน คนในกระท่อมทับหับเผย ก็เลี้ยงไก่ คนในวังก็เลี้ยงไก่ แต่ถ้าจะนับกันด้วยคำเปรียบเปรย ผู้รู้บอกว่า คำว่า “ไก่” มีในสำนวนไทย มากกว่าสัตว์อื่น

อารมณ์ผยอง ลำพอง ลมๆแล้งๆ คนสเปนพูดกันว่า “หัวเราะอยู่ในใจ เหมือนไก่อยู่บนโคก”ธรรมชาติของไก่ ตอนที่มันอยู่บนที่สูงสักเล็กน้อย ก็มักแสดงกิริยาอาการ ทำเสียง “ก๊อกๆ” ทำนองภูมิใจ

“กาญจนาคพันธุ์” อธิบายไว้ในหนังสือสำนวนไทย สำนวนสเปนสำนวนนี้ คล้ายสำนวนไทย จองหองพองขน “สุนทรภู่เคยเขียน เขาว่าลิงมันจองหองพองขน”

ไก่เป็นยาม “ไก่ขันหน้าประตูจะมีแขกมาหา” สำนวนแอฟริกา ตรงสำนวนไทย “แมวล้างหน้าแขกจะมาหา”

หรือ “หน้าร้อนถ้าไก่กินน้ำ ฝนจะตกในไม่ช้า”

ในพิธีกรรมสำคัญของโบราณ เช่น พิธีพิสูจน์ดำน้ำลุยเพลิง ในกฎหมายลักษณะพิสูจน์ กล่าวว่าเมื่อโจทก์จำเลยจะพิสูจน์แก่กัน

“ให้ตุลาการลูกความทั้งสองไปซื้อไก่เป็นแห่งเดียวกัน ซื้อขี้ผึ้งด้ายดิบ ผักส้มป่อย ผลมะกรูด หม้อข้าวใหม่ หม้อแกงใหม่ ผ้านุ่งผ้าห่ม กระทั่งจ่ายเครื่องบายสีในที่เดียวกัน...สำหรับที่จะอยู่กินได้ทั้ง 3 วัน”

เฉพาะไก่นั้นบอกว่า “ไก่ตัวผู้รู้ขันประจำยาม ข้างละตัว ไก่บังสุกุลไหว้เทพารักษ์ทั้งสองตัว”

ธรรมชาติของไก่ เมื่อตัวหนึ่งขัน อีกตัวหนึ่งก็ขันบ้าง จึงเรียกว่า “ขันสู้”

อยู่กับตระลาการครบ 3 วันแล้ว ทั้งสองฝ่ายก็เข้ามณฑลดำน้ำพิสูจน์ ก่อนพิสูจน์ “ให้โจทก์จำเลยสระหัว ชนไก่”

พิธีพิสูจน์ดำน้ำฯ กาญจนาคพันธุ์ เขียนว่า ครั้งสุดท้าย เมื่อเดือนมกราคม 2424 ทำกันที่เชียงใหม่ แต่เป็นคดีอะไร ทำพิธีกันเต็มตำราหรือไม่ “เขาไม่ได้บอก”

เช่นเดียวกับไม่ได้บอกเรื่อง “พิธีลุยเพลิง”

ในกฎมณเฑียรบาล มาตราหนึ่งว่า “อนึ่งวิวาทตบตี ฟันแทงกันให้โลหิตตกในพระราชวังก็ดี ท่านให้มันพลีวัง ให้ตั้งโรงพิธี 4 ประตู บายศรี 4 สำรับ บัต 5 ชั้น”

อันไก่ประตูละคู่

ให้วงด้ายรอบพระราชวัง นิมนต์พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์สามวัน ให้หาชีพ่อพราหมณ์ ซึ่งทำพลีกรรม กระทำบวงสรวงตามธรรมเนียม

ให้มีระบำรำเต้นพิณพาทย์ฆ้องกลองดุริยดนตรีประโคมทั้ง 4 ประตู

ครั้นเสร็จการพิธีแล้ว จึงให้เอาไก่ไปปล่อยเสียนอกเมือง ให้มันพาเสนียดจัญไรภัยอุปัทวะ ไปให้พ้นพระนครท่าน

นี่เป็นข้อถือโชคลางทางไสยศาสตร์เกี่ยวกับไก่ ใช้ไก่สะเดาะเคราะห์ หรือแก้เคราะห์แทนได้

ในพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 2 เรื่องอิเหนา ตอนปันหยีชนไก่กับอุณากรรณ มีกลอนว่า

“สองฝ่ายให้น้ำสรรพเสร็จ เสียเคราะห์ทำเคล็ดเด็ดหาง” อธิบายว่า ต้องเด็ดหางไก่แก้เคราะห์ร้ายให้พ้นไป จะได้ชัยชนะ”

เป็นอันว่า ไก่เมื่ออยู่ในบ้านเมือง ก็ยังอยู่ดีๆ แต่เมื่อถึงพิธีกรรม ไก่รับบทหนัก ไม่ว่าจะต้องถูกเอาไปปล่อย เพื่อให้พาเสนียดจัญไร...ไปให้พ้นพระนคร หรือถูกเด็ดหางทิ้ง

สำนวน “ตัดหางปล่อยวัด” มาจากเจ้าไก่ ผู้เล่นบทรับใช้มนุษย์มาหนักหนาสาหัส นี่แหละ

ไก่ไม่ว่าตัวที่ถูกทิ้งนอกเมือง ไก่ตัวที่ถูกตัดหาง...เป็นตัวแทนของเรื่องร้ายๆ...ชะตากรรมสุดท้าย ไม่เอากลับไปใช้งานอีก ถ้ามันยังมีลูกมีเมียรอที่บ้าน ก็คงคิดถึงกัน น่าสงสารนัก

ส่วนเจ้าพิธีตัดหางปล่อยวัด ที่ใช้ไก่สะเดาะเคราะห์แทนตัวเองนั้น ถ้าเขาตั้งรัฐบาลกันได้ จะชนะหรือแพ้ จะอยู่หรือจะไป ยังไม่มีใครรู้.

กิเลน ประลองเชิง

 

 

ADS Fix3
ADS Fix5