โรคไก่และการป้องกัน
ในการเลี้ยงไก่ให้ประสบผลสำเร็จนั้น ต้องเลี้ยงไก่ให้มีสุขภาพดี สมบูรณ์ แข็งแรง จึงจะให้ผลผลิตสูง ดังนั้นเราต้องรู้จักโรคและการป้องกันโดยถือหลักว่า "กันไว้ดีกว่าแก้" โดยทั่วไปแล้วโรคที่มักจะทำความเสียหายให้กับการเลี้ยงไก่ ได้แก่
โรคนิวคาสเซิล เป็นโรคติดต่อที่ร้ายแรงที่สุดของไก่ในประเทศไทย เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง การแพร่ะระบาดเป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยการหายใจเอาเชื้อ หรือกินน้ำ อาหารที่มีเชื้อปนเข้าไป จากอุจจาระ น้ำมูก น้ำลาย และสิ่งขับถ่ายอื่นๆ ของไก่ป่วย ไก่ที่ป่วยจะมีอาการทางระบบหายใจและระบบประสาท เช่น หายใจลำบาก มีเสียงดังเวลาหายใจ มีน้ำมูกไหล หัวสั่น กระตุก ขาและปีกเป็นอัมพาต คอบิด เดินเป็นวงกลม หัวซุกใต้ปีก สำหรับแม่ไก่ที่กำลังให้ไข่จะไข่ลดลงทันที่ และมักจะตายภายใน 3-4 วัน หลังจากแสดงอาการป่วย
การป้องกันโดยการทำวัคซีนลาโซตาเชื้อเป็นและลาโซตาเชื้อตายดูวิธีการใช้จากตารางการทำวัคซีนท้ายเล่ม
โรคหลอดลมอักเสบติดต่อ เป็นโรคทางเดินหายใจที่แพร่หลายที่สุด เกิดจากเชื้อไวรัส สามารถเกิดขึ้นได้กับไก่ทุกอายุ แต่มักจะมีความรุนแรงในลูกไก่ มีอัตราการตายสูงมาก ไก่ที่เป็นโรคนี้จะมีอาการ อ้าปากและโก่งคอเวลาหายใจ หายใจลำบาก เวลาหายใจมีเสียงครืดคราดในลำคอ ไอ น้ำมูกไหล ตาแฉะ เซื่องซึม เบื่ออาหาร ในไก่จะไข่ลดลงอย่างกะทันหัน
การป้องกัน โดยการทำวัคซีนป้องกันโรคหลอดลมอักเสบ
โรคอหิวาต์ไก่ เป็นโรคติดต่อที่ร้ายแรงชนิดหนึ่ง เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เข้าสู่ร่างกายทางอาหารและน้ำ ไก่ที่เป็นโรคนี้จะมีอาการหงอย ซึม เบื่ออาหาร กระหายน้ำจัด ท้องร่วง อุจจาระมีสีเหลือง เหนียงมีสีคล้ำกว่าปกติ ถ้าไก่เป็นโรคนี้อย่างร้ายแรง ไก่อาจตายโดยไม่แสดงอาการป่วยให้เห็น
การรักษา ใช้ยาปฏิชีวนะ คลอเตตร้าซัยคลิน หรือออกซีเตตร้าซัยคลิน หรือใช้ยาประเภทซัลฟา เช่น ซัลฟาเมอราซีน หรือซัลฟาเมทธารีน
การป้องกัน โดยการให้วัคซีนป้องกันโรคอหิวาต์
โรคฝีดาษไก่ เป็นโรคที่มักเป็นกับลูกไก่และไก่รุ่น ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสติดต่อกันโดยการสัมผัส เช่น อยู่รวมฝูงกัน และยุงเป็นพาหะของโรคกัด โรคนี้ไม่แสดงอาการป่วยถึงตาย ไก่ที่เป็นโรคนี้จะแสดงอาการมีจุดสีเทาพองตามบริเวณใบหน้า หงอน เหนียง และผิวหนัง และเมื่อจุดพองขยายตัวและแตกออกเป็นสะเก็ดลูกไก่จะหงอยซึม ไม่กินอาหารและตายในที่สุด
การป้องกัน โดยการทำวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษไก่
โรคหวัดติดต่อหรือหวัดหน้าบวม เป็นโรคทางเดินหายใจมักเกิดกับไก่รุ่นและไก่ใหญ่ ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ปะปนอยู่ในเสมหะ น้ำมูก และน้ำตาของไก่ป่วย ไก่ที่เป็นโรคนี้จะแสดงอาการอย่างรวดเร็ว โดยมีอาการจาม มีน้ำตา น้ำมูกอยู่ในช่องจมูกและเปียกเปรอะถึงปาก และมีกลิ่นเหม็น เมื่อเป็นรุนแรง ตาจะแฉะจนปิด หน้าบวม เหนียงบวม ไก่กินอาหารน้อยลง ไก่ที่กำลังให้ไข่จะไข่ลด
การรักษา โดยใช้ยาพวกซัลฟา ได้แก่ ซัลฟาไธอาโซล ซัลฟาไดเมท๊อกซิน ส่วนยาปฏิชีวนะ ได้แก่ ออกซี่เตตร้าซัยคลิน อิริโธมัยซิน และสเตรปโตมัยซิน
การป้องกัน การจัดการสุขาภิบาล และการเลี้ยงดูที่ดี การถ่ายเทอากาศในโรงเรือนที่ดี และการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหวัดหน้าบวม
โรคกล่องเสียงอักเสบติดต่อ
เป็นโรคทางเดินหายใจ มักเป็นกับไก่ใหญ่ อายุ 3-4 เดือนขึ้นไป ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส ไก่ที่เป็นโรคนี้จะแสดงอาการหายใจไม่สะดวก ยื่นคอและศีรษะตรงไปข้างหน้า อ้าปากเป็นระยะๆ และหลับตา ไก่จะตายเพราะหายใจไม่ออก
การป้องกัน การจัดการสุขาภิบาลที่ดี และป้องกันไม่ให้ลมโกรก และการให้วัคซีนป้องกันโรคกล่องเสียงอักเสบติดต่อ
โรคมาเร็กซ์ เป็นโรคที่มักเป็นกับไก่รุ่น ไก่สาว ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส ที่สะสมอยู่ที่หนังไก่บริเวณโคนขนของไก่ป่วยเป็นแผ่นเล็กๆ คล้ายขี้รังแค ไก่ที่เป็นโรคนี้จะแสดงอาการหงอยซึม การเจริญเติบโตไม่ได้ขนาด ในกรณีที่เป็นอัมพาต ไก่จะอ่อนเพลีย กินน้ำกินอาหารไม่ได้ การทรงตัวไม่ปกติ เดินขาลาก แล้วเป็นอัมพาตเดินไม่ได้
การป้องกัน การสุขาภิบาล และการเลี้ยงดูที่ดีไม่ให้ไก่เครียด และการให้วัคซีนป้องกันโรคมาเร็กซ์
ข้อปฏิบัติ 10 ข้อในการควบคุม-ป้องกันโรคระบาดไก่
หยอดหรือฉีดวัคซีน หรือแทงปีก เป็นประจำตามโปรแกรมการให้วัคซีน
คอก เล้า หรือโรงเรือนเลี้ยงไก่ ตั้งอยู่บริเวณที่ดี มีลักษณะและขนาดเหมาะสมกับจำนวนไก่ สามารถป้องกันสัตว์พาหะนำโรค เช่น นกกระจอก นกพิราบ อีกา สัตว์ปีกชนิดอื่นๆ หนู สุนัข แมว และสัตว์ชนิดอื่นๆ
ให้น้ำสะอาด โดยเปลี่ยนน้ำให้ไก่กินอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ทำความสะอาดรางน้ำ รางอาหาร และภาชนะใส่อาหารเสมอๆ
ทำความสะอาดคอก เล้า หรือโรงเรือนเป็นประจำ รวมทั้งบริเวณล้อมรอบ อย่าให้มีแอ่งน้ำสกปรก ต้องมีน้ำยาฆ่าเชื้อโรคสำหรับจุ่มเท้าก่อนเข้า
ป้องกันเชื้อโรคจากภายนอก เช่น ไม่นำไก่จากแหล่งที่เป็นโรค หรือสงสัยว่าเป็นโรค หรือไม่ทราบแหล่ง เข้ามาในฟาร์มและรวมในฝูงทันที
ถ้าจะนำไก่จากแหล่งภายนอกมาเลี้ยง ต้องขังไก่แยกกักกันโรคไว้อย่างน้อย 15 วัน เพื่อดูอาการให้แน่ใจก่อนว่าไก่ไม่เป็นโรคแน่นอนจึงนำเข้ามาเลี้ยงรวมฝูงได้
ไก่ป่วยต้องแยกออกจากฝูงแล้วทำการรักษาโรคทันที ถ้ารักษาไม่ได้ผลต้องคัดออกทิ้งและทำลาย เพื่อป้องกันการแพร่โรคในฝูง
เมื่อเกิดโรคระบาดต้องทำลายไก่ป่วยและซากไก่ตายด้วยการฝังลึกไม่น้อยกว่า 1.5 เมตร โรยด้วยปูนขาว แล้วกลบดินทับปากหลุม หรือเผา นำวัสดุรองพื้นออกมาเผา ทำความสะอาดรางน้ำ รางอาหาร ภาชนะใส่อาหาร อุปกรณ์ต่างๆ พ่นภายใน ภายนอก และบริเวณรอบๆ คอก เล้า หรือโรงเรือนด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค และพักการเลี้ยงไก่ไว้ระยะหนึ่ง อย่าทิ้งซากไก่ลงในแม่น้ำลำคลอง อย่าให้น้ำที่ใช้ทำความสะอาดไหลลงแม่น้ำลำคลอง จะทำให้โรคแพร่ระบาดไปยังแหล่งอื่น และแจ้งเจ้าหน้าที่ราชการโดยเร็วที่สุด
ให้ยาบำรุง วิตามิน และแร่ธาตุ ละลายน้ำให้ไก่กินในสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างกระทันหัน หรือช่วงเปลี่ยนฤดูกาล ซึ่งมักเป็นสาเหตุทำให้ไก่เครียด และติดโรคได้ง่ายที่สุด ควรให้กินติดต่อกันอย่างน้อย 3 วัน
ปรึกษาสัตวแพทย์ในท้องที่เพื่อขอคำแนะนำที่ถูกต้อง