ตำนานไก่ชนพระนเรศวร
จากหนังสือพระมหากษัตริย์ไทย ของประกอบโชประการ 2519 หน้า 208 กล่าวไว้ดังนี้ วันหนึ่งได้มีการตีไก่ขึ้นระหว่างสมเด็จพระนเรศวรฯกับไก่ของมังชัยสิงห์ราช นัดดา (ต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระมหาอุปราชา) ไก่ของ สมเด็จพระนเรศวรตีชนะไก่ของมังชัยสิงห์ มังชัยสิงห์ขัดเคืองพระทัยจึงตรัส ประชดประชันหยามหยันออกมาอย่างผู้ที่ถือดีว่ามีอำนาจเหนือกว่าว่า “ไก่เชลยตัวนี้เก่งจริงหนอ” ถ้าไม่ใช่คนเหี้ยมหาญแกว่นกล้า ไม่ใช่คนสู้คนทุกสถานการณ์ก็คงจะได้แต่รับฟังหรือเจรจาโต้ตอบไปอย่างเจียมเนื้อเจียมตัว แต่สมเด็จพระนเรศวรฯไม่ใช่คนเช่นนั้น ทรงเป็นวีรขัติชาติที่ทรงสู้คนทุกสถานการณ์ จึงตรัสตอบโต้เป็นเชิงท้าอยู่ในทีว่า “ไก่เชลยตัวนี้อย่าว่าแต่จะตีกันอย่างกีฬาในวังเหมือนอย่างวันนี้เลย ตีพนันเอาบ้านเอาเมืองกันก็ยังได้”
จากหนังสือของประยูร ทิศนาคะ : สมเด็จพระนเรศวร ฉบับออกอากาศ, พระนครหอสมุดกลาง 09,2513 ( 10 ) 459 หน้า 64 – 65 ได้บรรยายการชนกันอย่างละเอียดว่า “ขณะที่ไก่ของสมเด็จพระนเรศวรกับไก่ของพระมหาอุปราชาแห่งกรุงหงสาวดีกำลังชนกันอยู่อย่างทรหด ต่างตัวต่างจิกตีฟาดแข้งแทงเดือยอย่างไม่ลดละ ฝ่ายทางเจ้าของไก่ คือ พระนเรศวรและพระมหาอุปราชาแห่งกรุงหงสาวดีพร้อมทั้งข้าราชการ บริพาร ทั้งหลายที่เสมอนอก ก็เขม็งมองด้วยความตั้งอกตั้งใจและผู้ที่ปากเปราะหน่อย ก็ตีปีกร้องสนับสนุนไก่ข้างฝ่ายเจ้านายฝ่าย ของตนเป็นที่สนุกอย่างคาดไม่ถึง ขณะที่ไก่ฟาดแข้งกันอย่างอุตลุดพัลวัน สายตาผู้ดูทุกคู่ต่างก็เอาใจช่วยและแทบว่าจะไปตีแทนไก่ก็ว่าได้คล้ายกับว่าไก่ชนกันไม่ได้ดังใจตนเมื่อทั้งสองไก่พัวพันกันอยู่พักหนึ่ง ไก่ของพระมหาอุปราชก็มีอันล้มกลิ้งไปต่อหน้าต่อตา ไก่ชนของพระนเรศวรฯกระพือปีกอย่างทระนงและขันเสียงใสพระมหาอุปราชถึงสะอึกสะกดพระทัยไว้ไม่ได้” นับว่าเมืองไทยเรามีไก่ชนที่เก่งมาก จึงทำให้สมเด็จพระนเรศวรฯ เชื่อพระทัยอย่างแน่นอนว่าเมื่อชนต้องชนะไก่พม่า จึงกล้าท้าทายเดิมพันบ้านเมืองกัน
พงศาวดารยังกล่าวถึงการตีไก่เป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางในพม่าโดย เฉพาะราชสำนักถือกันว่า“การตี ไก่เป็นกีฬาในวัง” บรรดาเชื้อพระวงศ์จึงนิยมเลี้ยงไก่ชนกันแทบทุกตำหนักจะเห็นได้ว่าการตีไก่เป็นที่โปรดปรานของเชื้อพระวงศ์ในวังพม่าจึงเชื่อได้ว่าคนไทยสมัยนั้นก็นิยมการตีไก่กันอย่างแพร่หลายเช่นกัน
สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงพระราชสมภพ ณ วังจันทน์ เมืองพิษณุโลกสองแคว พระองค์ทรงโปรดปรานการตีไก่มาแต่ทรงเยาว์วัยทรงใฝ่หาความรู้และเสาะหาไก่เก่งมาเลี้ยงไว้ด้วยเช่นกัน พ. ต.พิทักษ์ บัวเปรม (ข้าราชการบำนาญ) ท่านได้บันทึกไว้ว่าเมื่อปี 2500 ท่านได้อ่านตำราไก่ชนจากสมุดข่อย เชื่อแน่ว่าไก่ที่พระนเรศวรฯทรงนำไปชนกับพม่านั้นนำไปจากบ้าน “ บ้านกร่าง” เดิมเรียกบ้าน “บ้านหัวแท” ซึ่งอยู่ห่างจากตัว เมืองพิษณุโลกไปทางทิศตะวันตก ประมาณ 9 กิโลเมตรความเห็นท่านว่าตรงกับการศึกษาของ พล.ต.ต.ผดุง สิงหเสนีย์ ด้วย “บ้านกร่าง” อำเภอเมืองพิษณุโลก แดนไก่ชนนเรศวร เป็นหมู่บ้านเก่าแก่สืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษไทยโบราณ ปัจจุบันพบซากปรักหักพังของวัดวาอารามเป็นจำนวนมาก เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความเจริญรุ่งเรืองในอดีต และมีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์มายาวนาน ผู้คนในหมู่บ้านยังสืบทอดขนบธรรมเนียม มาตั้งแต่บรรพบุรุษคือมีงานเทศกาลต่างๆก็จะนัดชนไก่กัน ณ บ่อนประจำหมู่บ้าน “ลุงชิต เพชรอ่อน” อายุประมาณ 90 ปี ( พ.ศ.2535 ) อยู่บ้านกร่าง คนในหมู่บ้านบอกว่าเป็นนักเลงไก่ชน มาตั้งแต่เด็กสืบสายเลือดการชนไก่มาจากพ่อและปู่ ท่านเล่าว่าสมัยพ่อพูดถึงสมัยปู่เลี้ยงไก่ชน (ประมาณ 200 ปีมาแล้ว) บ้านกร่างเลี้ยงไก่มากเป็นไก่เก่งชนชนะชื่อเสียงโด่งดัง เป็นที่ต้องการของคนต่างถิ่น ไก่ที่เลี้ยงเป็น “ไก่อูตัวใหญ่ สีเหลือง หางขาว” และปู่ได้พูดเสมอว่า “ไก่เหลืองหางขาวไก่เจ้าเลี้ยง” คำพูดนี่จึงติดปากคนบ้านกร่างมาจนทุกวันนี้
จากการศึกษาภาพเขียนฝาผนังที่วิหารวัดสุวรรณดาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พบว่าเป็นภาพเขียนเก่าแก่ มีอยู่ภาพหนึ่งเป็นภาพพระนเรศวรฯชนไก่ ใต้ภาพบรรยายไว้ว่า “พระนเรศวรฯ เมื่ออยู่หงสาวดี เล่นพนันไก่กับมังสามเกียด มังสามเกียดก็ว่าไก่เชลยเก่ง พระนเรศวรฯ ตรัสตอบว่าไก่เชลยตัวนี้จะพนันเอาเมืองกัน ต่างองค์ต่างไม่พอใจในคำตรัส พ.ศ. 2121 พระชันษา 23 ปี” ซึ่งภาพไก่ที่เขียนเป็นไก่เหลือง หางขาว แข้งขาว ปากขาวอมเหลือง ตาเหลือง ดังนั้น ไก่ชนที่พระนเรศวรฯ นำไปจากบ้านกร่าง จึงน่าจะเป็น “ไก่เหลืองหางขาว” สมดังไก่เจ้าเลี้ยง ในหนังสือสารานุกรมพัฒนาภาคใต้ พ.ศ. 2529 เล่ม 3 เรียก “ไก่เหลืองหางขาว” ว่า “ไก่เหลืองใหญ่” ลักษณะขนแดงอ่อน คล้ายสีทอง ขนปีกขาว ปากขาว หางขาว ปากเป็นร่อง เกล็ดเป็นผิวหวายตะกร้า (ขาวแกมเหลือง) จัดเป็นยอดไก่
ไก่ชนพระนเรศวร หรือไก่เจ้าเลี้ยง เป็นไก่อู พันธุ์เหลืองหางขาวเป็นที่รู้จักเรียกขานกันว่า ”ไก่เหลืองหางขาว” จัดเป็นยอดไก่ มีลักษณะสีสร้อยเหลือง แข้งขาวอมเหลือง ปากขาวอมเหลืองหางสีขาวยาวเหมือนฟ่อนข้าว ยืนผงาดอกเชิดท้ายลาด หน้าแหลมยาวเหมือนหน้านกยูง ปีกใหญ่ยาวมีขนแซมทั้งสองข้าง อกใหญ่ ตัวยาว หางรัดชิด แข้งเล็กนิ้วยาวเรียว เดือยงอน เวลาขันเสียงใหญ่และยาว
ลักษณะทั่วไปของไก่ชนพระนเรศวร
เป็นพันธุ์ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันมากที่สุดคือ พันธุ์เหลืองหางขาว ตามตำรากล่าวว่า ไก่เหลืองหางขาว
ไก่เจ้าเลี้ยง ในทุกพื้นที่ที่มีการเล่นไก่ชน ไก่เหลืองหางขาวมักจะเป็นตัวเอกทุกๆ สังเวียนอยู่เสมอ หรือแทบจะเรียกได้ว่าไก่พันธุ์นี้อยู่ในความครอบครองของนักเลงไก่อยู่เสมอ ไก่เหลืองหางขาวจัดว่าเป็นไก่ที่มีสกุลและมีลักษณะเด่นมาก จากประวัติฝีมือความสามารถ ทำให้มีการพูดเสมอในวงพนันว่า ไก่เหลืองหางขาวกินเหล้าเชื่อ หมายความว่าเมื่อนำไก่สีนี้ไปตี สามารถที่จะเชื่อมั่นได้ว่า จะต้องเป็นฝ่ายชนะอย่างแน่นอนสามารถสั่งเหล้าเงินเชื่อมากินก่อนได้เลย
ไก่เหลืองหางขาวที่มีลักษณะตรงตามตำรา
หน้าหงอนบาง กลางหงอนสูง สร้อยระย้า หน้านกยูง อกชัน หวั้นชิด หงอนบิด ปากร่อง พัดเจ็ด ปีกสิบเอ็ด เกล็ดยี่สิบสอง ถือเป็นไก่ชั้นเยี่ยม
- อกชัน คือ ยืนยืดอกหรือเชิดอก อันจะทำให้ด้านท้ายของตัวลาดลงต่ำ แสดงถึงความเป็นไก่อันธพาล
- หวั้นชิด คือ ข่วงหางอยู่ชิดหรือติดกับบั้นท้ายตรงบริเวณเชิงกราน ทำให้ช่องว่างระหว่างบั้นท้ายกับเชิงกรานแคบแสดงถึงความอึดอดทน
-หงอนบิด คือ หงอนไม่ตรงบิดเอียงไปด้านข้างเล็กน้อยแต่ไม่ไช่พับเอียงมากเกินไปเพราะจะเป็นลักษณะที่ไม่ดี แต่จะเชื่อกันว่าหงอนที่เอียงบิดไปทางขวาเป็นไก่ที่มีฝีมือตามตำราแต่หากเอียงทางซ้ายจะไม่นิยม
-ปากร่อง คือ ที่บริเวณจงอยปาก จะมีร่องเป็นร่องลึกเข้าไปทั้งสองข้างออกจากรูจมูก อันแสดงถึงความเข้มแข็งไม่หลุดหักง่าย
-พัดเจ็ด คือ ที่บริเวณจะพบขนที่เรียกว่าขนพัดข้างละ 7 เส้น
-ปีกสิบเอ็ด คือ ขนปีกท่อนนอกมีข้างละ 11 เส้น ช่วยในการบินได้ดี
-เกล็ดยี่สิบสอง คือ เกล็ดที่นิ้วกลางนับรวมกันได้ 22 เกล็ด จัดเป็นไก่มีสกุลตีเจ็บตีหนัก รุนแรง