กิน "ใบกระท่อม" ผิดวิธี เสี่ยง "จิตหลอน"
แบ่งปันเกร็ดความรู้เรื่องสุขภาพทั้งโรคภัยไข้เจ็บ วิธีออกกำลังกาย เคล็ดลับลดน้ำหนัก เพื่อสุขภาพที่แข็งแรง อยู่กินของอร่อยไปได้อีกนาน ๆ
ถึงแม้ว่าจะถูกกฎหมายแล้ว แต่ใบกระท่อมก็ยังอันตรายมากอยู่ดีหากกินอย่างไม่ถูกวิธี
รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ โพสต์ลงในเพจเฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ถึงอันตรายของการกินใบกระท่อมอย่างไม่ถูกวิธีเอาไว้ว่า กินกระท่อมไม่ได้เมา แต่ระวังอาจทำให้หลอน และผู้ที่มีปัญหาทางจิต ยิ่งไม่ควรกิน
กิน "ใบกระท่อม" ผิดวิธี เสี่ยง "จิตหลอน"
การบริโภคกระท่อมไม่ได้เกิดอาการมึนเมาแบบเดียว กับสุรา กัญชา หรือยาเสพติดอื่นๆ แต่จะออกแนวที่เขาเรียกว่า ตื่นตัวเป็นพิเศษหรือ "อาการยัน"
อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันดีเช่นกันว่า การบริโภคกระท่อมมากเกินไป อย่างต่อเนื่อง จะเกิดภาวะเสพติดได้ และยังอาจเกิดภาวะที่เห็น "ภาพหลอน" ได้ด้วย จึงมีคำเตือนว่า ใครที่มีสภาวะปัญหาทางสุขภาพจิตอยู่ ห้ามบริโภคกระท่อม
ใบกระท่อม เป็นอย่างไร
พืชกระท่อม มีสารแอลคาลอยด์ ชื่อ ไมทราจีนีน (Mitragynine) อยู่ในใบ มีฤทธิ์ระงับอาการปวด เช่นเดียวกับมอร์ฟีน โดยมีความแรงต่ำกว่ามอร์ฟีนประมาณ 10 เท่า
นิยมเสพใบกระท่อม ด้วยการเคี้ยวใบสด หรือบดใบแห้งให้เป็นผงละลายน้ำดื่ม ส่วนมากจะเคี้ยวเพียง 2-3 ใบ และดื่มน้ำอุ่นหรือกาแฟร้อนตาม วันละ 3-10 ครั้งตามอาการเหนื่อย แต่เมื่อใช้ไประยะหนึ่ง ปริมาณการใช้จะเพิ่มขึ้น (กว่า 37% เสพถึงวันละ 21-30 ใบ)
อาการหลังเสพ/กินใบกระท่อม
ผลจากการเสพ พบว่าหลังเคี้ยวใบกระท่อมไปประมาณ 5-10 นาที จะมีอาการเป็นสุข กระปรี้กระเปร่า ไม่รู้สึกหิว (ไม่อยากอาหาร) กดความรู้สึกเมื่อยล้าขณะทำงาน ทำให้สามารถทำงานได้นาน และทนแดดมากขึ้น
ผลข้างเคียงของการเสพใบกระท่อม
ผลข้างเคียงของการเสพใบกระท่อม จะเกิดอาการดังต่อไปนี้
กลัวหนาวสั่นเวลาอากาศครึ้มฟ้าครึ้มฝน
ผู้เสพจะมีผิวหนังแดงเพราะเลือดไปเลี้ยงผิวหนังมากขึ้น
ปากแห้ง
ปัสสาวะบ่อย
เบื่ออาหาร
ท้องผูก อุจจาระแข็งเป็นก้อนเล็กๆ
นอนไม่หลับ
ถ้าเสพใบกระท่อมในปริมาณมากๆ จะทำให้เกิดอาการเหล่านี้
มึนงง
คลื่นไส้อาเจียน
น้ำหนักลด
ปากแห้ง
วิตกกังวล และสับสน กระวนกระวายใจ
เหงื่อออก และคัน
แพ้แดด
นอนไม่หลับ หรือร่างกายตื่นตัวตลอดเวลา
หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
บางรายจะมีอาการโรคจิตหวาดระแวง เห็นภาพหลอน คิดว่าคนจะมาทำร้ายตน และพูดไม่ค่อยรู้เรื่อง (โดยเฉพาะกับคนไข้จิตเวชที่มีโรคเก่า ที่ไปกระตุ้นอาการได้ หรือไปทำอันตรปฏิกิริยากับยาจิตเวช ทำให้อาการกำเริบได้)
กลุ่มเสี่ยงรับอันตรายจากใบกระท่อม (ไม่ควรบริโภค)
สตรีตั้งครรภ์และให้นมบุตร
ผู้เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง หรือติดสุรา
ผู้มีความผิดปกติทางจิต
ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ
ข้อควรระวังในการบริโภคใบกระท่อม
ข้อสำคัญที่ควรระวังมากที่สุดคือ การกินใบกระท่อม โดยไม่รูดเอาก้านใบออกจากตัวใบ อาจจะทำให้เกิดอาการ “ถุงท่อม” ในลำไส้ จากก้านใบและใบของกระท่อมไม่สามารถย่อยได้ ติดค้างอยู่ภายในลำไส้ ขับถ่ายออกมาไม่ได้ เกิดพังผืดขึ้นมาหุ้มรัดอยู่โดยรอบก้อนกากกระท่อม เกิดเป็นก้อนถุงขึ้นมาในลำไส้
อันตรายจากภาวะขาดใบกระท่อม
อาการขาดใบกระท่อม คือ จะไม่มีแรง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและกระดูก แขนขากระตุก รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่สามารถทำงานได้ อารมณ์ซึมเศร้า จมูกแฉะ น้ำตาไหล บางรายจะมีท่าทางก้าวร้าว แต่เป็นมิตร (Hostility) นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร (ตรงกันข้ามกับอาการขาดยาแอมเฟตามีน ที่จะทำให้รู้สึกง่วงนอนมาก หิวจัดและมือสั่น)
"ใบกระท่อม" กับการใช้เพื่อสุขภาพตามภูมิปัญญาหมอพื้นบ้าน
ใช้ "พืชกระท่อม" ในการรักษาโรคอย่างไรให้ถูกวิธี
6 อันตราย หากกิน “ใบกระท่อม” เกินขนาด
ขอขอบคุณ
ข้อมูล :รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ จากเฟซบุ๊กเพจ อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์,TNN (1),(2)
ภาพ :iStock