การดูแลลูกไก่ชน ธรรมชาติของไก่พื้นบ้าน เมื่อฟักลูกไก่ออกแล้วยังต้องทำหน้าที่เลี้ยงดู โดยหาอาหารตาม ธรรมชาติและป้องกันภยันตรายทั้งหลายจนลูกไก่อายุประมาณระหว่าง 6-10 สัปดาห์ แม่ไก่จึงจะปล่อยให้ลูกหากินตามอิสระ การที่แม่ไก่ต้องคอยเลี้ยงดูลูกไก่นั้น จะมีผลเสียเกิดขึ้นได้ดังนี้ ในระหว่างการเลี้ยงลูกนั้น แม่ไก่จะหยุดการให้ไข่โดยสิ้นเชิง ทำให้การออกไข่ของชุดต่อไปล่าช้า อัตราการตายของลูกไก่สูงขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวนจากร้อนจัดแล้วฝนตก ทำให้ลูกไก่ได้รับสภาวะเครียด ถ้าปรับตัวไม่ทันมักจะตาย ในแหล่งที่มีอาหารตามธรรมชาติไม่เพียงพอ ย่อมทำให้ลูกไก่ได้รับอาหารไม่ครบถ้วน ทำให้อ่อนแอ มีภูมิต้านทานต่อโรคต่ำลง เป็นผลทำให้ลูกไก่ตายด้วยโรคแทรกซ้อนได้ง่าย จำนวนลูกไก่ที่ฟักได้ต่อปีต่อแม่ไก่ลดลง ผลเสียดังกล่าวข้างต้น โดยปกติเกษตรกรมักมองข้ามและไม่ให้ความสนใจเท่าที่ควร เป็นเพราะราคาไม่สูงเหมือนกับสัตว์ใหญ่ชนิดอื่น ๆ ที่จำหน่ายได้ในราคาสูง ๆ
อย่างไรก็ตามถ้าเกษตรกรจะยอมลงทุนบ้างและให้ความเอาใจใส่เพิ่มขึ้นอีกเล้กน้อยก็จะสามารถลดความสูญเสียดังกล่าวได้มากพอควร ซึ่งอาจเพียงพอที่จะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น วิธีการแก้ไขทำได้โดยการแยกลูกไก่จากแม่ไก่มากเองภายในคอกไก่ การกกลูกไก่ คือการให้ความอบอุ่นแก่ลูกไก่โดยอาศัยความอบอุ่นจากหลอดไฟฟ้า หรือลวดร้อน หรือเตาถ่าน เป็นต้น ซึ่งก็เปรียบเสมือน บริเวณใต้ปีกไก่ของแม่ไก่ที่คอยให้ความอบอุ่นแก่ลูก ๆ นั่นเอง อุปกรณ์และวัสดุที่ใช้สำหรับการกกลูกไก่ประกอบด้วย
3.1 วัสดุรองพื้นคอก ที่นิยมใช้คือ แกลบเพราะหาได้สะดวก หรือจะเป็นพวกขี้เลื่อย หรือฟางข้าวแห้งนำมาตัดเป็นท่อน ๆ ยาวพอประมาณก็ได้
3.2 แผงกั้นกกลูกไก่ อุปกรณ์ชนิดนี้มีไว้สำหรับจำกัดบริเวณลูกไก่ให้อยู่เฉพาะบริเวณที่มีความอบอุ่น และมีอาหาร ลูกไก่แรกเกิดนั้น จะยังไม่คุ้นเคยว่าบริเวณใดอบอุ่น ถ้าไม่มีแผงกั้นกก ลูกไก่อาจเดินหลงไปตามมุมคอกไก่ซึ่งความอบอุ่นไปไม่ถึง ย่อมส่งผลสูญเสียต่อการเลี้ยง แผงกั้นกกอาจทำจากไม้ไผ่ หรือวัสดุชนิดใดก็ได้ที่กั้นแล้วลูกไก่ลอดผ่านไม่ได้ โดยมากมักวางแผงกั้นกกเป็นรูปวงกลมจะดีกว่าวางเป็นรูปเหลี่ยม
3.3 หลอดไฟฟ้า หลอดไฟ 100 วัตต์พร้อมฝาโป๊ะ 1 ชุด สามารถใช้กกลูกไก่ได้ประมาณ 10-50 ตัว แต่ในหมู่บ้านที่ยังไม่มีไฟฟ้า อาจดัดแปลงใช้เตาถ่านที่ยังมีความร้อนอยู่วางไว้บริเวณกึ่งกลางของแผงกั้นกกแล้วใช้แผ่นสังกะสีล้อมรอบเตาถ่ายนั้น ไว้อีกชั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกไก่เดินชน หรือโดดลงไปในเตาถ่าน
3.4 ม่านกั้นคอกไก่ มีไว้สำหรับป้องกันไม่ให้ลมฝนผ่านเข้าในคอกในระยะการกก ม่านนั้นอาจทำจากวัสดุเหลือทิ้ง เช่น พวกถุงปุ๋ยเก่า ๆ หรือพวกพลาสติก ซึ่งต้องนำมาล้างให้สะอาดก่อนนำมาทำเป็นม่าน
3.5 ที่ให้น้ำและอาหาร อาจทำจากไม้ไผ่ผ่าซีก หรือทำจากยางรถจักรยานหรือมอเตอร์ไซด์เก่า ๆ ก็ได้ แต่ขนาดของยางไม่ควรกว้างและลึกเกินไป การกกลูกไก่นั้น จะใช้เวลาประมาณ 3-5 สัปดาห์ ส่วนในฤดูร้อนจะใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ การกกในฤดูร้อนในช่วงกลางวันไม่จำเป็นต้องเปิดกกเพราะอุณหภูมิสูงอยู่แล้ว บางครั้งยังต้องเปิดม่านเพื่อให้ลมพัดผ่านระบายความร้อนภายในคอกออกไปด้วย ส่วนในเวลากลางคืน ควรเปิดกกและปิดม่านให้เรียบร้อย
การเลี้ยงหรืออนุบาลลูกไก่
ปัญหาการเลี้ยงไก่ แล้วลูกไก่มักจะตายมากกว่าการรอด การเลี้ยงไก่ชนนั้นไม่ง่ายอย่างที่คิด การอนุบาลลูกไก่โดยเฉพราะหน้าฝน เป็นช่วงที่เลี้ยงลูกไก่ยากมากเพราะลูกไก่มักจะเป็นหวัด แล้วโรคอื่นๆจะแทรกประกอบกับเป็นช่วงฤดูฝนทำให้เชื้อโรคทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นเชื้อ แบคทีเรีย และเชื้อไวรัสต่างๆ แพร่กระจายได้รวดเร็วที่สุด การเลี้ยงหรืออนุบาลลูกไก่มีข้อควรพิจารณาดังต่อไปนี้
1. ต้องให้ความอบอุ่นเพียงพอในกรณีที่เลี้ยงเอง ไม่ได้ให้แม่ของมันเลี้ยง โดยการกกไฟและอยู่ในสุ่มไม่ให้ถูกละอองฝน
2. หากให้แม่มันเลี้ยงต้องขังสุ่ม ไว้ในที่ไม่โดนฝน หากให้แม่มันเลี้ยงแล้วปล่อยให้แม่ของมันพาไป ตากลมตากฝน ก็มีโอกาสเป็นหวัดได้ง่าย
3. ต้องมีการทำวัคซีน ให้ครบถ้วนตามกำหนดเวลาที่กรมปศุสัตว์กำหนด คือ
– ทำนิวคลาสเซิล เมื่อลูกไก่ได่ 3-7 วัน โดยการหยอดจมูก หรือตาของลูกไก่จำนวน 2-3 หยด เมื่อครบ 3 เดือนทำอีกครั้งหนึ่ง
– ทำวัคซีนหลอดลม เมื่อลูกไก่อายุได้ 7-15 วัน โดยการหยอดจมูกหรือตา จำนวน 2-3 หยด
– ทำวัคซีนหวัดหน้าบวม เมื่อลูกไก่อายุได้ 2 เดือน โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังตัวละ 0.5 ซีซี
– ทำวัคซีนอหิวาต์ เมื่อลูกไก่อายุได้ 3 เดือน โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังตัวละ 1.0 ซีซี
อนึ่งในการทำวัคซีนมีข้อปฏิบัติที่ควรระมัดระวัง เพราะบางทีการทำวัคซีนป้องกัน กลับกลายเป็นการเติมเชื้อให้ไก่ไปเลยก็ม่ คือ
– การทำวัคซีนทุกครั้ง โดยเฉพาะเชื้อเป็น ควรทำในที่ร่มอย่าทำในที่แดดจ้า เพราะจะทำให้วัคซีนเสื่อม
– การทำวัคซีนทุกครั้ง โดยเฉพาะเชื้อเป็น ต้องทำให้เสร็จภายใน 1 ชั่วโมง หากเกินกำหนดวัคซีนจะเสื่อม
– อย่าเทวัคซีนที่เหลือลงพื้นดิน เพราะจะทำให้เชื้อนั้นเจริญเติบโตได้ในที่ชื้นแฉะ กลายเป็นเชื้อโรคแพร่ระบาดต่อไป
– วัคซีนต้องเก็บไว้ในอุณหภูมิไม่เกิน 5-8 C มิฉะนั้นวัคซีนจะเสื่อม
– การทำวัคซีนต้องทำกับไก่ที่มีสุขภาพแข็งแรง หากทำในไก่ที่ไม่สบายเช่นเป็นหวัด ถือเป็นข้อห้ามเพราะเท่ากับไปเพิ่มเชื้อโรคในไก่ ทำให้ไก่อ่อนแอ บางครั้งถึงตายได้
– การทำวัคซีน ไก่บางตัวจะแพ้ โดยเฉพาะไก่รุ่น, ไก่ใหญ่ที่ไม่เคยทำวัคซีนมาตั้งแต่เล็กจะมีการแพ้ ดังนั้นควรให้กินยาพาราเซทตามอล สักครึ่งเม็ดหลังจากทำวัคซีนโดยเฉพาะวัคซีนนิวคลาสเซิล ชนิดที่แทงปีกหรือฉีดเข้าใต้ผิวหนัง รวมทั้งชนิดเชื้อตายด้วย