5 พืช-ผลไม้ที่ผู้ป่วยโรคไตห้ามกิน เสี่ยงอันตราย-ฟอกไตตลอดชีวิต
แบ่งปันเกร็ดความรู้เรื่องสุขภาพทั้งโรคภัยไข้เจ็บ วิธีออกกำลังกาย เคล็ดลับลดน้ำหนัก เพื่อสุขภาพที่แข็งแรง อยู่กินของอร่อยไปได้อีกนาน ๆ
นพ.นันทพล พงศ์รัตนามาน อาจารย์ที่ปรึกษา แผนกศัลยศาสตร์หลอดเลือด ร.พ.พระมงกุฎเกล้า หรือ หมอท็อป อธิบายว่า โรคไตมีอยู่ 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ ไตวายเฉียบพลัน และไตวายเรื้อรัง
ไตวายเรื้อรัง อาจมีอาการจากโรคอื่นๆ มาก่อน เช่น เบาหวาน ความดันสูง ไขมันในเลือดสูง เมื่อมีอาการจากโรคเหล่านี้นานๆ อาจทำให้ไตเสื่อม และต้องเข้ารับการรักษาด้วยการฟอกไต
ไตวายเฉียบพลัน ต่างจากไตวายเรื้อรังตรงที่จะเป็นอาการที่เกิดจากสาเหตุแบบปัจจุบันทันด่วน ทำให้เราต้องเข้ารับการฟอกไตแบบฉุกเฉิน ซึ่งอันตรายมากๆ อาจมีสาเหตุมาจากอุบัติเหตุที่ทำให้เสียเลือดมาก การได้รับยาที่ผิดปกติ เกิดอาการแพ้จากสัตว์กัดหรือต่อย หรืออาจมาจากการรับประทานอาหารที่อาจทำให้ไตวายเฉียบพลัน ต้องฟอกไตทันที
5 พืชและผลไม้ที่ผู้ป่วยโรคไตห้ามกิน เสี่ยงอันตราย
ข้อมูลจาก โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ระบุถึงผลไม้ที่คนป่วยโรคไตไม่ควรกินเอาไว้ ดังนี้
มะเฟือง
มะเฟืองที่มีรสเปรี้ยวจะเพิ่มความเสี่ยงอันตรายต่อไตได้มากกว่ามะเฟืองที่มีรสหวาน เพราะมะเฟืองที่มีรสเปรี้ยวมีสารออกซาเลตสูงกว่ามะเฟืองรสหวานถึง 4 เท่า การรับประทานมะเฟืองรสเปรี้ยว หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งการคั้นเฉพาะน้ำมาดื่ม จะทำให้ร่างกายได้รับออกซาเลตในปริมาณมาก ออกซาเลตจะไปจับตัวกับแคลเซียมในร่างกาย dลายเป็นแคลเซียมออกซาเลต ซึ่งอาจทำให้เกิดเป็นนิ่วและอุดตันท่อไต ทำให้เกิดไตวายเฉียบพลัน และอาจต้องเข้ารับการฟอกไตแบบเร่งด่วนได้
นอกจากมะเฟืองแล้ว ยังมีผักผลไม้ที่มีออกซาเลตสูงอีกมาก เช่น บีทรูท มันสำปะหลัง เผือก อัลมอนด์ โกโก้ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ผักผลไม้ที่มีออกซาเลตสูงเหล่านี้ที่สามารถรับประทานได้โดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อไต หากรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม ไม่มากเกินไป สลับรับประทานหลายๆ อย่าง และดื่มน้ำตามมากๆ สามารถลดการสะสมของออกซาเลตในร่างกายได้
เชอร์รี่
แม้ว่าเชอร์รี่จะเป็นผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง และมีประโยชน์มาก แต่ผู้ป่วยโรคไตควรระมัดระวังในการรับประทาน เพราะเชอร์รี่มีโพแทสเซียมสูง ถ้าเป็นผู้ป่วยไตเสื่อมระดับ 4 หรือ 5 ควรหลีกเลี่ยงผลไม้ที่มีสีเข้มอย่างสีส้ม แดง เพราะเป็นผลไม้ที่มีโพแทสเซียมสูง อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเข้ารับการรักษาฟอกไตได้
นอกจากนี้ตัวเมล็ดของเชอร์รี่มีสารไฮโดรเจนไซยาไนด์ ถ้าไม่กินเมล็ดอาจไม่ก่อให้เกิดอันตราย แต่หากมีการนำมาบดหรือทำให้เมล็ดแตกและกินเข้าไป อาจทำให้ร่างกายได้รับสารพิษตัวนี้ได้ หากรับประทานในปริมาณมากๆ อาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ สับสน วิตกกังวล และอาเจียนได้ และยังอาจทำให้มีปัญหาการทำงานของหัวใจ ความดันโลหิต ไตวาย จนถึงขั้นช็อกได้
นอกจากเมล็ดเชอร์รี่แล้ว สารไฮโดรเจนไซยาไนด์ยังพบได้ในเมล็ดของผลไม้ชนิดอื่น เช่น แอปเปิ้ล แอพริคอต
ลูกเนียง
ลูกเนียงเป็นผลไม้ยอดนิยมชนิดหนึ่งในทางภาคใต้ของประเทศไทย ในลูกเนียงมีสารที่ก่อให้เกิดพิษชื่อว่า กรดเจงโคลิค เกิดจากกรดอะมิโนที่มีกำมะถันสูง ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลันจนอาจต้องฟอกไตได้ โดยมีรายงานว่าอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นจากเม็ดลูกเนียง พบได้ตั้งแต่ 1-20 เม็ด โดยพิษอาจเกิดขึ้นหลังจากกินลูกเนียงเข้าไปราว 2-14 ชั่วโมง โดยอาจมีอาการปวดบริเวณขาหนีบ ปวดปัสสาวะมาก แต่ปัสสาวะลำบาก หรืออาจไม่ปัสสาวะเลย เพราะไตเริ่มหยุดทำงาน หรืออาจพบปัสสาวะขุ่นข้น หรือปัสสาวะเป็นเลือดได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังอาจพบอาการปวดท้องเกร็ง ปวดหลัง คลื่นไส้อาเจียน ความดันโลหิตสูง โดยมีปัจจัยที่อาจทำให้เกิดพิษเพิ่มขึ้นคือ การดื่มน้ำน้อย รวมถึงการรับประทานเมล็ดลูกเหนียงดิบ รวมถึงผู้ป่วยไตวายเรื้อรังอยู่แล้ว อาจเพิ่มอันตรายต่อไตมากยิ่งขึ้น
หากอยากกินลูกเนียงให้ปลอดภัย ควรนำลูกเนียงมาหั่นเป็นแผ่นบางๆ แล้วนำไปตากแดดหรือต้มในน้ำผสมเบกกิ้งโซดา 10 นาที จะสามารถลดกรดเจงโคลิคลงได้ราวครึ่งหนึ่ง ก็จะสามารถรับประทานได้ แต่อย่างไรก็ควรระมัดระวังในการรับประทานลูกเนียง อย่ารับประทานมากเกินไป
หญ้าไผ่น้ำ
จริงๆ แล้วหญ้าไผ่น้ำเป็นพืชที่มีสรรพคุณช่วยบำรุงไต ขับปัสสาวะ ลดอาการอักเสบของทางเดินปัสสาวะ บำบัดอาการต่อมลูกหมากโต บรรเทาอาการบวมได้ แต่เหมาะกับคนที่ไม่ได้เป็นโรคไตเสื่อมเรื้อรัง สำหรับผู้ป่วยโรคไต หากรับประทานหญ้าไผ่น้ำเข้าไปมากๆ ไตอาจทำงานหนักกว่าปกติ อาจเสี่ยงภาวะไตวายเฉียบพลันได้
นอกจากหญ้าไผ่น้ำแล้ว ยังมีพืชที่มีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะอยู่อีกมากมายที่ผู้ป่วยโรคไตควรหลีกเลี่ยง เช่น หญ้าหนวดแมว กระเจี๊ยบ ว่านหางม้า
ผลไม้ที่มีสีเหลือง ส้ม แดง
ผลไม้ที่มีสีเหลือง ส้ม แดง เช่น กล้วย ทุเรียน มะม่วงสุก ลูกพลับ ฯลฯ ผลไม้เหล่านี้นอกจากจะมีน้ำตาลสูงแล้ว ยังมีโพแทสเซียมสูง ซึ่งผู้ป่วยโรคไตที่ไตทำหน้าที่ขับโพแทสเซียมส่วนเกินออกจากร่างกายได้ไม่ค่อยดีนัก จึงอาจทำให้มีปริมาณโพแทสเซียมในเลือดสูงเกินไป จึงอาจก่อให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลันได้ รวมไปถึงภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้ห้ามไม่ให้รับประทานเลย แต่ควรเลือกรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม ไม่มากเกินไป ไม่รับประทานแทนมื้ออาหาร เพื่อลดความเสี่ยงอันตรายต่อการทำงานของไต