แบ่งปันเกร็ดความรู้เรื่องสุขภาพทั้งโรคภัยไข้เจ็บ วิธีออกกำลังกาย เคล็ดลับลดน้ำหนัก เพื่อสุขภาพที่แข็งแรง อยู่กินของอร่อยไปได้อีกนาน ๆ
อัปเดตข้อมูลล่าสุด (7 ธ.ค.) ฉบับรวบรัดเข้าใจง่าย ถึงอันตรายจากโควิด-19 สายพันธุ์ B.1.1.529 หรือสายพันธุ์โอมิครอนล่าสุด
10 ข้อมูลที่ควรรู้เกี่ยวกับโควิด-19 สายพันธุ์ “โอมิครอน”
เป็นโควิด-19 สายพันธุ์ที่แพร่ระบาดได้เร็วที่สุดเท่าที่เคยมีมา
โควิด-19 สายพันธุ์แพร่ระบาดได้เร็วกว่าสายพันธุ์ที่ผ่านมา 2-5 เท่า
อาการของผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน มีอาการไม่หนักมาก
กระทรวงสาธารณสุขยืนยันว่า ผู้ติดเชื้อ Omicron ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ หรืออาการน้อยคล้ายโรคไข้หวัด โดยผู้ติดเชื้อในต่างประเทศส่วนใหญ่ไม่ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล
ยังไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน เสียชีวิต
กลุ่มเสี่ยงเดิม ยังคงเสี่ยงมากเหมือนเดิม
แม้ว่ายังไม่พบผู้เสียชีวิตหรือผู้ที่มีอาการหนักมากจากการติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน แต่ไม่ได้แปลว่าโอมิครอนไม่น่ากลัว เพราะ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ระบุว่า ลักษณะเชื้อโอมิครอน ติดง่าย แพร่ระบาดเร็ว หลบหลีกภูมิคุ้มกัน ดื้อยา และการติดเชื้อเพิ่มในร่างกายได้เร็ว สามารถแพร่ไวรัสออกเป็นวงกว้างครบคุณสมบัติการระบาดรุนแรง มักมีผู้ป่วยอาการหนักขึ้นได้อยู่แล้ว มิอาจพูดได้ว่า “การติดเชื้อโอมิครอนอาการเหมือนไข้หวัด” เพราะตามข้อมูลของแอฟริกานั้น ผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มวัยแข็งแรงมาก กลับมีอาการไข้อ่อนเปลี้ยเพลียแรงอย่างรุนแรง 2-3 วัน ฉะนั้นถ้าเป็นผู้สูงอายุ หรือป่วยมีโรคประจำตัว ก็อาจมีอาการรุนแรงมากกว่าคนอายุน้อยก็ได้
เชื้ออาจแพร่กระจายผ่านทางอากาศ
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ระบุเพิ่มเติมว่า มีข่าวว่า นักท่องเที่ยว 2 รายกักกันแยกห้องแล้วติดเชื้อโอมิครอน ทั้งที่ไม่เคยมีโอกาสสัมผัสใกล้ชิดกันมาก่อน จนตั้งข้อสังเกตว่า การติดเชื้อแพร่กระจายทางอากาศ (Airborne) หรือไม่
ตรวจหาเชื้อเจอได้ยากมากขึ้น
มีการรายงานว่า ด้วยการผันแปรรหัสพันธุกรรมผิดเพี้ยนค่อนข้างมาก ทำให้สามารถหลบหลีกการตรวจด้วย PCR อันเป็นกระบวนการวิธีมาตรฐานใช้ตรวจโควิดทั่วโลกนี้ได้ ข้อพลาดนี้มีตั้งแต่จับหาพันธุกรรมโอมิครอนไม่ได้เลย ตรวจจับได้ 2/3 ชิ้นส่วน ตรวจจับเชื้อได้ระดับต่ำไม่ตรงจริงแต่ไวรัสมีปริมาณมาก เพราะความผิดเพี้ยนรหัสพันธุกรรมทำให้การตรวจ PCR จับไม่แม่นยำ
นอกจากนี้ ชุดตรวจ ATK ไม่เหมาะตรวจเชื้อโอมิครอน แม้ตรวจหาแอนติเจนไวรัสสามารถจับเชื้อโอมิครอนได้ แต่ด้วย ATK ประมวลผลช้า มักเป็นผลลวงเยอะ ทำให้ไม่อาจเป็นตัวเลือกที่ดีในสถานการณ์ตอนนี้
มาตรการป้องกันโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน
ฉีดวัคซีนโควิดให้ครอบคลุมมากที่สุด ควบคู่ไปกับการหายารักษา เช่น ยาฟ้าทะลายโจร หรือยาต้านโรคซึมเศร้าฟลูวอกซามีน (Fluvoxamine) หรือยาพยาธิไอเวอร์เม็กติน แต่มีเงื่อนไขใช้กับผู้ติดเชื้อโควิดใหม่ๆ ที่จะป้องกันไม่ให้อาการหนักขึ้นได้
ใช้มาตรการป้องกันส่วนบุคคลที่เข้มงวด เช่น สวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง
ยกระดับการเฝ้าระวัง ณ ช่องทางเข้าออกประเทศ และสถานที่ท่องเที่ยว
ทำการสุ่มตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยง และผู้ป่วยไข้หวัดที่เป็นกลุ่มก้อน (Cluster)
ส่งตัวอย่างเชื้อที่พบจากผู้เดินทางหรือรายที่น่าสงสัยไปตรวจหาสายพันธุ์โอมิครอน ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
ขอขอบคุณ
ข้อมูล :กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข,ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
ภาพ :iStock