แบ่งปันเกร็ดความรู้เรื่องสุขภาพทั้งโรคภัยไข้เจ็บ วิธีออกกำลังกาย เคล็ดลับลดน้ำหนัก เพื่อสุขภาพที่แข็งแรง อยู่กินของอร่อยไปได้อีกนาน ๆ
ถั่วเขียว หากินง่าย ราคาถูก แถมยังมีประโยชน์มากกว่าที่คิด ทั้งช่วยลดคอเลสเตอรอล บำรุงหัวใจ และอีกมากมาย
หากนึกถึง “ถั่วเขียว” ทุกคนนึกถึงอะไรบ้าง บางคนอาจนึกถึงเมนูของหวานง่ายๆ อย่างต้มถั่วเขียวหวานอ่อนๆ บางคนอาจนึกถึงถั่วเขียวเม็ดๆ ที่เอามาปลูกเพื่อให้ได้ถั่วงอก แต่จริงๆ แล้วถั่วเขียวที่หลายๆ คนมองข้าม มีคุณประโยชน์ที่ดีต่อร่างกายที่ Sanook Health อยากแนะนำให้ลองกินกัน
คุณค่าทางสารอาหารของถั่วเขียว
ถั่วเขียวปริมาณ 100 กรัม มีคุณค่าทางสารอาหารดังนี้
โปรตีน 24 กรัม
น้ำตาล 6 กรัม
เส้นใยอาหาร 16.3 กรัม
ธาตุเหล็ก
สารโพลีฟีนอล
แคโรทีน
เป็นต้น
ถั่วเขียว และประโยชน์ต่อร่างกาย
ลดคอเลสเตอรอล
ถั่วเขียว มีไขมันชนิดที่ดีต่อร่างกาย ซึ่งมีส่วนช่วยในการลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด จากงานวิจัยที่ทดลองในหนู ระบุว่า หนูที่กินถั่วเขียวผสมบุก มีระดับไขมันและคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีลดลง รวมทั้งมีไขมันดีเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ถั่วเขียวจึงอาจเป็นตัวเลือกที่ดีในการช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลที่ไม่ดีในร่างกายได้
นอกจากนี้ ถั่วเขียวยังอาจช่วยป้องกันภาวะไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์ได้ด้วย มาจากผลการทดลองในหนูที่กินถั่วเขียว เสี่ยงไขมันในตับน้อยกว่าหนูที่กินถั่วเหลืองติดต่อกัน 4 สัปดาห์
แต่ทั้งหมดยังเป็นการทดลองในหนู และการทดลองบางชิ้นใช้ส่วนเปลือกถั่วเขียวมาสกัด หรือผสมถั่วเขียวกับพืชชนิดอื่น ดังนั้นควรรอการศึกษาระยะยาวกับกลุ่มคนจำนวนมากเพิ่มเติมต่อไป
ลดเสี่ยงโรคอันตรายจากหัวใจ
มีงานวิจัยบางชิ้น ระบุว่า ถั่วเขียวอาจช่วยป้องกันภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายได้ และยังอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะเนื้อเยื่อหัวใจถูกทำลาย จากการศึกษากับหนูทดลองชิ้นหนึ่ง พบว่า สารโพลีฟีนอลซึ่งสกัดจากถั่วเขียวช่วยเสริมสร้างเนื้อเยื่อหัวใจได้อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งยังช่วยยับยั้งไม่ให้เนื้อเยื่อหัวใจถูกทำลาย ซึ่งเป็นปัจจัยที่อาจนำไปสู่ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายได้
แต่เนื่องจากยังไม่มีผลการทดลองในคน จึงควรติดตามข้อมูลเพิ่มเติมจากงานวิจัยอื่นๆ ในอนาคตต่อไป
การกินถั่วเขียวให้ดีต่อสุขภาพ คือการกินในปริมาณที่เหมาะสม ราว 1 กำมือต่อวัน หลีกเลี่ยงการปรุงถั่วเขียวกับน้ำตาล หรือหากชอบกินถั่วเขียวต้มน้ำตาล เต้าส่วน ถั่วกวน ลูกชุบ หรือน้ำถั่วเขียว ควรบริโภคในปริมาณที่จำกัด เพื่อหลีกเลี่ยงการกินน้ำตาลมากเกินไป
ขอขอบคุณ
ข้อมูล :พบแพทย์
ภาพ :iStock