ใช้น้ำผึ้งทาลงบนเนื้อแผล ปิดด้วยผ้ากอซ
วันต่อไปเปิดทำแผลรอบใหม่ ให้ใช้น้ำเกลือหรือน้ำสุกชะเนื้อแผล (ไม่ควรใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น แอลกอฮอล์ โพวิโดนไอโอดีน ชะถูกเนื้อแผล แต่อนุโลมให้ชะบนผิวหนังรอบๆ แผลได้ ทั้งนี้ เพราะน้ำยาเหล่านี้จะทำลายเซลล์หรือเนื้อเยื่อในแผล อาจทำให้แผลหายช้าได้)
ใช้น้ำผึ้งทาบนเนื้อแผลแล้วปิดด้วยผ้ากอซอีกครั้ง
ทำแผลวันละ 1-2 ครั้ง
การทำแผลด้วยน้ำผึ้ง จะสังเกตได้ว่าเนื้อแผลจะแดง ไม่มีหนองหรือการติดเชื้อ และเซลล์ผิวหนังจะงอกจากขอบแผลเข้า มาปกคลุมเนื้อแผลในเวลาไม่กี่วัน
ในกรณีที่เป็นแผลเปื่อย หรือมีคราบหนอง (เช่น แผลเบาหวาน แผลจากแรงกดทับ แผลเรื้อรังอื่นๆ)
การทำแผลควรหาทางเอาคราบหนองออกเสียก่อน (เช่น ใช้ไม้พันสำลี หรือผ้ากอซ ชุบน้ำเกลือหรือน้ำสุก ขูดหรือเขี่ยเอาคราบหนองออก)
ทาแผลด้วยน้ำผึ้งให้ชุ่ม แล้วใช้ผ้ากอซปิด
ในระยะแรกควรทำแผลวันละ 2 ครั้ง เมื่อเนื้อแผลเริ่มแดงและแห้งดีจึงค่อยลดเหลือ 1 ครั้ง
เมื่อแผลสะอาด (ไม่มีคราบหนอง เนื้อแผลแดง หรือมีเลือดซิบ) ก็จะมีเซลล์ผิวหนังงอก จากขอบแผล ค่อยๆ เข้ามาปกคลุมเนื้อแผล
ข้อควรระวังในการใช้น้ำผึ้งรักษาแผล
อย่างไรก็ตาม นพ.พิรัตน์ โลกาพัฒนา หรือหมอแมว แพทย์แผนกอายุรกรรม โรงพยาบาลยันฮี อินเตอร์เนชั่นแนล ให้ข้อมูลเอาไว้ว่า ในกรณีที่จะใช้น้ำผึ้งมารักษาแผล เชื้อที่อยู่ในความสนใจ จะเป็นเชื้อ S.Aureus โดยเชื้อนี้มีค่าการเติบโตแบ่งตัวได้ หากมีน้ำมากพอในเนื้อเยื่อ ซึ่งน้ำตาลแต่ละชนิด มีความสามารถในการยับยั้งเชื้อได้ที่ความเข้มข้นไม่เท่ากัน (ซูโครส ฟรัคโตส กลูโคส ไม่เท่ากัน)
น้ำผึ้งที่ขายในท้องตลาด ถ้าผ่านมาตรฐานการผลิต จะมีการจัดการกับสปอร์ของเชื้อบางชนิดไปก่อนแล้ว ความเข้มข้นที่เอามาขาย คือต้องมากพอที่จะยับยั้งการเติบโตของเชื้อ (จะเข้มข้นกว่าน้ำผึ้งที่เก็บจากรังนิดนึง) ดังนั้น น้ำผึ้งที่ใช้ในการทดลองทดสอบทั้งหลาย มักจะเป็นน้ำผึ้งแบบเกรดวางขายในร้านค้าได้ เพื่อให้ได้ผลตรงกับการทดลอง โดยน้ำผึ้งป่า หรือน้ำผึ้งทำเอง ต้องระวังเรื่องความเข้มข้นอาจจะไม่เพียงพอ ต้องระวังเรื่องสปอร์ของ C.Difficile และเชื้อบัคเตรีบางชนิด ถ้าแผลมีเลือดออกหรือมีหนอง การใช้น้ำผึ้งต้องระวัง เพราะว่าเลือดที่ปนเข้ามาสัก 4-5% ของปริมาณน้ำผึ้งที่ใช้ สามารถลดความเข้มข้นของน้ำตาลจนทำให้ฤทธิ์การฆ่าเชื้อหมดไปได้
สรุปคือ น้ำผึ้ง สามารถนำมาใช้เป็นยาทารักษาแผลได้ แต่ต้องเป็นน้ำผึ้งที่ผ่านมาตรฐานการผลิต ผ่านการจัดการกับสปอร์ของเชื้อบางชนิดเรียบร้อยแล้ว และมีความเข้มข้นที่มากพอที่จะยับยั้งการเติบโตของเชื้อได้ ดังนั้นควรปรึกษาหรืออยู่ในคำแนะนำจากแพทย์ก่อนใช้น้ำผึ้งรักษาแผลทุกครั้ง และหากไม่แน่ใจในคุณภาพของน้ำผึ้งจริงๆ แนะนำให้รักษาแผลด้วยวิธีปกติด้วยยาแผนปัจจุบันจะดีที่สุด
ขอขอบคุณ
ข้อมูล :มูลนิธิหมอชาวบ้าน,นพ.พิรัตน์ โลกาพัฒนา หรือหมอแมว แพทย์แผนกอายุรกรรม โรงพยาบาลยันฮี อินเตอร์เนชั่นแนล
ภาพ :iStock