ดูถ่ายทอดสด "อัพเดตทุกเรื่องราวข่าวสารวงการไก่ชน ดูถ่ายทอดสดไก่ชน ครบทุกสนาม ทีเด็ดไก่ชน อัพเดทข่าวไก่ชนทุกประเด็นที่น่าสนใจ แหล่งความรู้สาระเรื่องที่เป็นประโยชน์ผู้เลี้ยงไก่ชน"

ไฮไลท์ไก่ชนล่าสุด

B1
ADS B2
ADS B3
ADS B4
หน้าหลัก บทความไก่ชน “ยาแก้อักเสบ” ไม่ใช่ “ยาฆ่าเชื้อ” อย่าสับสน อาจเสี่ยง “ดื้อยา” ในระยะยาว

“ยาแก้อักเสบ” ไม่ใช่ “ยาฆ่าเชื้อ” อย่าสับสน อาจเสี่ยง “ดื้อยา” ในระยะยาว

วันเสาร์ 20 พฤศจิกายน 2564 ยอดเข้าชม 160
SHARE ON:

 

 

“ยาแก้อักเสบ” ไม่ใช่ “ยาฆ่าเชื้อ” อย่าสับสน อาจเสี่ยง “ดื้อยา” ในระยะยาว

        ทำความเข้าใจระหว่างยาแก้อักเสบ และยาฆ่าเชื้อใหม่ ยาแก้อักเสบช่วยลดอาการปวดบวมอักเสบไม่ว่าจะมาจากสาเหตุใด แต่ยาฆ่าเชื้อไว้ใช้เมื่อต้องการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย หากกินยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียทั้งๆ ที่อาการเจ็บคอจากหวัดมาจากเชื้อไวรัส จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงดื้อยาได้
ซื้อยากินเอง เสี่ยงได้ยาไม่ตรงกับอาการ-โรค

       ผศ.ภก.ดร.บดินทร์ ติวสุวรรณ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การซื้อยากินเองโดยไม่ได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องจากแพทย์ หรือเภสัชกรที่เพียงพอ อาจนำไปสู่การซื้อยารักษาผิดอาการ ผิดโรค และเพิ่มความเสี่ยงดื้อยา ที่ส่งผลอันตรายต่อชีวิตในเวลาต่อมาได้

          ยาแคปซูลสีต่างๆ สีดำแดง เขียวฟ้า ขาวชมพู ที่หลายคนเข้าใจว่าเป็นยาแก้อักเสบ จริงๆ แล้วส่วนใหญ่ยาเหล่านี้ไม่ใช่ยาแก้อักเสบ แต่เป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย หรือยาต้านจุลชีพ หรือยาปฏิชีวนะ หน้าที่ของยาปฏิชีวนะส่วนใหญ่คือจัดการกับเชื้อโรค จำพวกเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา เป็นต้น

ยาแก้อักเสบ ไม่ใช่ ยาฆ่าเชื้อ

ยาแก้อักเสบ ช่วยลดอาการอักเสบคืออาการปวด บวม แดง ร้อน ซึ่งเป็นปฏิกิริยาเคมีของร่างกายที่ตอบสนองต่อการบาดเจ็บ เช่น หกล้ม ข้อเท้าแพลง เหงือกอักเสบ การติดเชื้อแบคทีเรียก็อาจทำให้เกิดการอักเสบได้ เราใช้ยาแก้อักเสบ เพื่อยับยั้งการเกิดอาการอักเสบ บรรเทาอาการเจ็บปวด ไม่ว่าความเจ็บปวดจะมาจากสาเหตุใดก็ตาม ดังนั้นยาที่ใช้ เช่น ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-Steroidal Anti-Inflammatory Drugs) หรือยากลุ่มเอ็นเซด (NSAIDs) เช่น ไอบรูโพเฟน ไดโคลฟีแนค มีเฟนามิกแอซิด เป็นต้น

ยาฆ่าเชื้อ ใช้เพื่อฆ่าหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรค ยาส่วนใหญ่ใช้กับเชื้อแบคทีเรีย ดังนั้น การที่คนจำนวนมากเข้าใจว่ายาแก้อักเสบก็คือยาปฏิชีวนะ ทำให้ใช้ยาผิด และเป็นอันตรายต่อสุขภาพและต่อชีวิตในที่สุด ยาฆ่าเชื้อหรือยาปฏิชีวนะถูกออกแบบมาเพื่อจัดการเชื้อโรคต่างๆ เช่น เชื้อแบคทีเรีย เรามียาที่ใช้เพื่อทำลายอวัยวะสำคัญของเชื้อแบคทีเรีย เช่น ผนังเซลล์ที่เป็นเกราะป้องกันของมัน ถ้ายาทำลายกระบวนการสร้างเกราะของมันได้ ก็ทำให้เชื้อแบคทีเรียตาย หรือยาบางชนิดใช้เพื่อยับยั้งกระบวนสร้างโปรตีนของแบคทีเรีย ซึ่งโปรตีนเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของเชื้อ จึงทำให้เชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตไม่ดี หรือหยุดเจริญเติบโต

เลือกยาฆ่าเฉพาะเชื้ออย่างถูกต้อง ลดเสี่ยงดื้อยา

ปัจจุบันมียาหลากหลายใช้เพื่อกำจัดเชื้อโรค ต่างๆ เช่น ยาฆ่าเชื้อรา เพื่อจัดการกับเชื้อรา ยาฆ่าเชื้อไวรัส ใช้จัดการกับไวรัส สำหรับยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ก็มีหลากหลายจึงต้องใช้ให้จำเพาะกับชนิดของแบคทีเรีย และ อวัยวะที่เกิดการติดเชื้อ ดังนั้น ถ้าเรานำยาที่ออกแบบมาเพื่อทำลายอวัยวะแบคทีเรียไปรักษาการติดเชื้อไวรัส ทั้งๆ ที่ไวรัสไม่มีอวัยวะดังกล่าว ก็ไม่เกิดประโยชน์ และไม่ทำให้อาการป่วยหายไป ตัวอย่างเช่น ปัจจุบันมีสูตรการใช้ยาอะม็อกซีซิลินเพื่อการฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั้งๆ ที่ยาอะม็อกซีซิลินเป็นยาที่ใช้ยับยั้งการสร้างผนังเซลล์เชื้อแบคทีเรีย ซึ่งไวรัสไม่มีอวัยวะดังกล่าว จึงตอบได้ว่า การใช้ยาผิดไม่สามารถจัดการกับเชื้อไวรัส โควิด-19 ได้

เจ็บคอจากหวัด อย่ากินยาฆ่าเชื้อ

ผู้เป็นหวัด มีอาการเจ็บคอ ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัส ในกรณีของเชื้อไข้หวัดใหญ่บางสายพันธุ์ เราอาจมียาที่ใช้จัดการกับมันได้ แต่สำหรับหวัดเจ็บคอทั่วไปที่เกิดจากเชื้อไวรัสอื่นๆ นั้น เรายังไม่มียารักษา แต่ร่างกายของเราจะรักษาตัวเอง และการให้ยารักษาตามอาการ ซึ่งอาการป่วยจะหายไปในที่สุด เพราะฉะนั้น ถ้าเราใช้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียกับอาการหวัดเจ็บคอที่มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัส ก็ไม่เกิดประโยชน์ เพราะไม่มีแบคทีเรียให้ฆ่า ส่วนไวรัสที่มีอยู่นั้น ยาที่ใช้ก็ฆ่าไม่ได้ 

ร่างกายดื้อยา เสี่ยงเสียชีวิตด้วยโรคติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยา

ในทางกลับกัน ยาที่กินกลับทำให้แบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในร่างกายของเรามีโอกาสเรียนรู้และกลายเป็นต้นเหตุการดื้อยา แล้วยังสามารถถ่ายทอดความสามารถการดื้อยาให้เชื้อแบคทีเรียอื่นๆ อีก ซึ่งอาจเป็นแบคทีเรียก่อโรคที่เข้ามาในร่างกาย ทำให้แบคทีเรียชนิดนั้นดื้อยาได้ เป็นสาเหตุทำให้เราไม่สามารถใช้ยาฆ่าเชื้อตัวเดิมได้ผลอีกต่อไป ต้องเปลี่ยนยา หรือเลวร้ายที่สุดคือ อาจไม่มียารักษาได้ ซึ่งพบได้บ่อยๆ ว่าผู้ป่วย ไม่ว่าจะป่วยเป็นโรคอะไร หรือป่วยจากอุบัติเหตุ มะเร็ง โรคหัวใจ แต่กลับพบว่าหลายครั้งผู้ป่วยเหล่านั้นไม่ได้เสียชีวิตจากโรค ดังกล่าว แต่กลับเสียชีวิตด้วยโรคติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยา ซึ่งไม่มียาตัวใดรักษาได้ 

เพราะฉะนั้น ถ้ามีอาการเจ็บป่วย แล้วสงสัยว่าติดเชื้อ ต้องมีการตรวจวินิจฉัยโรค โดยแพทย์เพื่อให้แน่ใจว่าติดเชื้อหรือไม่ และเป็นเชื้อโรค ประเภทใด จะได้ใช้ยากำจัดเชื้อโรคได้ถูกต้องแม่นยำ

 

 

 

 

 

ขอขอบคุณ

ข้อมูล :สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ),ผศ.ภก.ดร.บดินทร์ ติวสุวรรณ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ภาพ :iStock

ADS Fix3
ADS Fix5