แบ่งปันเกร็ดความรู้เรื่องสุขภาพทั้งโรคภัยไข้เจ็บ วิธีออกกำลังกาย เคล็ดลับลดน้ำหนัก เพื่อสุขภาพที่แข็งแรง อยู่กินของอร่อยไปได้อีกนาน ๆ
นพ.นันทพล พงศ์รัตนามาน อาจารย์ที่ปรึกษา แผนกศัลยศาสตร์หลอดเลือด ร.พ.พระมงกุฎเกล้า หรือ หมอท็อป แนะนำเคล็ดลับสำหรับคนที่มีอาการท้องผูกบ่อยๆ ลองทำตาม 5 ข้อนี้ รับรองได้ผล
5 วิธีแก้ "ท้องผูก" อย่างได้ผลภายใน 7 วัน
เลือกกินอาหารที่มีกากใยอาหารสูง
อาหารที่มีกากใยอาหารสูงมีมากมาย แต่กากใยอาหารที่ช่วยเรื่องการขับถ่าย คือ ผักใบเขียว ดีกว่ากินพืชอย่างมัน เผือก หรือข้าวที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง ผักใบเขียวมีกากใยอาหารสูง และคาร์โบไฮเดรตต่ำ นอกจากนี้ผักใบเขียวยังมีแมกนีเซียมสูง ที่ช่วยในเรื่องของการขับถ่ายได้ดี
หากไม่สามารถหาผักใบเขียวกินได้ อาจลองเลือกกินถั่วเปลือกแข็งต่างๆ อย่าง อัลมอนด์ ถั่วลิสง พิสตาชิโอ แมคคาเดเมีย (ถั่วเปลือกแข็งจะมีกากใยอาหารมากกว่าถั่วเปลือกอ่อน เช่น ถั่วแดง ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ที่จะมีคาร์โบไฮเดรตมากกว่า) นอกจากนี้ในถั่วเปลือกแข็งยังมีไขมันดี ที่จะช่วยลดปริมาณไขมันเลวในร่างกาย ช่วยลดไขมันในเลือด ลดความดันโลหิต
ดื่มน้ำ
ผู้ชายควรดื่มน้ำมากกว่า 3-3.5 ลิตรต่อวัน ในขณะที่ผู้หญิงควรดื่มน้ำมากกว่า 2.5-3 ลิตรต่อวัน น้ำจะเป็นตัวพาเอากากใยอาหารที่เราได้จากการกินผักใบเขียวขับถ่ายออกไป เพราะหากมีกากใยอาหารแต่ไม่มีน้ำมากพอ อาจทำให้ท้องผูก ถ่ายออกมาได้ไม่สะดวก
เพิ่มแบคทีเรียชั้นดีในลำไส้
แบคทีเรียที่ดีต่อร่างกายอยู่ในนมเปรี้ยว โยเกิร์ต แต่ควรเลือกที่มีปริมาณคาร์โบไฮเดรตน้อยกว่า 5 กรัม หลีกเลี่ยงที่ใส่ผลไม้หรืออะไรที่มีน้ำตาลสูง นอกจากนี้ยังมี กิมจิ นัตโตะ ซาวเคราท์ แตงกวาดอง คอมบูชา อาหารเหล่านี้จะช่วยเพิ่มแบคทีเรียที่ดีต่อลำไส้ได้ ช่วยย่อยสลายอุจจาระซึ่งทำให้ขับถ่ายได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ผักใบเขียวยังเป็นอาหารของโพรไบโอติกส์ ทำให้โพรไบโอติกส์มีจำนวนมากขึ้น
เดินให้มากขึ้น
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าการเดินช่วยให้การขับถ่ายดีขึ้นได้ ควรเดินอย่างน้อยวันละ 8,000 ก้าว เมื่อร่างกายได้ขยับ ได้ลุกขึ้นเดิม ลำไส้ก็ได้ทำงานไปด้วย และแน่นอนว่ารวมถึงลำไส้ใหญ่ และระบบขับถ่ายด้วยเช่นกัน
นอนตรงเวลา
หากเราเข้านอนและตื่นนอนให้ตรงเวลา (แนะนำให้นอนราว 22.00 น. ตื่น 6.00 น. หรือ 5.00 น.) หากร่างกายของเราคุ้นชินกับการนอนและตื่นตรงเวลาทุกวัน ระบบต่างๆ ในร่างกายก็จะทำงานตรงเวลาทุกวันเช่นกัน รวมถึงระบบขับถ่ายด้วย
ขอขอบคุณ
ข้อมูล :นพ.นันทพล พงศ์รัตนามาน อาจารย์ที่ปรึกษา แผนกศัลยศาสตร์หลอดเลือด ร.พ.พระมงกุฎเกล้า หรือ หมอท็อป
ภาพ :iStock