ดูถ่ายทอดสด "อัพเดตทุกเรื่องราวข่าวสารวงการไก่ชน ดูถ่ายทอดสดไก่ชน ครบทุกสนาม ทีเด็ดไก่ชน อัพเดทข่าวไก่ชนทุกประเด็นที่น่าสนใจ แหล่งความรู้สาระเรื่องที่เป็นประโยชน์ผู้เลี้ยงไก่ชน"

ไฮไลท์ไก่ชนล่าสุด

B1
ADS B2
ADS B3
ADS B4
หน้าหลัก บทความไก่ชน โรคไก่ที่ควรระวัง พร้อมวิธีป้องกัน

โรคไก่ที่ควรระวัง พร้อมวิธีป้องกัน

วันพฤหัสบดี 15 เมษายน 2564 ยอดเข้าชม 205
SHARE ON:

 

 

โรคไก่ที่ควรระวัง พร้อมวิธีป้องกัน
โรคที่เกิดขึ้นกับไก่ เป็นอีกปัญหาที่ห้ามมองข้ามไปโดยเด็ดขาด เพราะโรคพวกนี้อาจจะเป็นตัวการทำให้ไก่ของเราพิการ หรือตายได้ ถือว่าเป็นปัญหาสำคัญที่สุดที่ต้องคอยระวังเลย การเลี้ยงไก่ วันนี้เราจึงได้รวบรวม เอา โรคไก่ที่ควรระวัง พร้อมวิธีป้องกันมาให้เหล่านักเลี้ยงไก่ทั้งหลายได้ ลองนำไปใช้ในชีวิตประจำวันดู

โรคนิวคาสเซิล
โรคนิวคาสเซิล เป็นโรคที่ก่อความเสียหายเป็นอย่างมากในสัตว์ปีกทั้งในไก่บ้าน ไก่สวยงาม และนกป่าต่าง ๆ ความเสียหายมีความสัมพันธ์กับอวัยวะเป้าหมายของเชื้อแต่ละตัว และมีลักษณะเฉพาะโดยมีความหลากหลายในเรื่องของอัตราการป่วย อัตราการตาย กลุ่มอาการและวิการของโรค สาเหตุของโรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสพารามิกโซไวรัส ไก่ทุกอายุสามารถป่วยเป็นโรคนี้ได้ ลักษณะกลุ่มวิการการที่พบสามารถจำแนกออกเป็น  2 กลุ่มคือ กลุ่มที่แสดงอาการทางอวัยวะภายใน และแสดงอาการทางประสาท

โรคนิวคาสเซิล
กลุ่มที่แสดงอาการทางอวัยวะภายใน พบการลอกหลุดและมีเลือดออกของผนังทางเดินอาหารตั้งแต่ปากจนถึงรูทวาร จุดเลือดออกของผนังกระเพาะแท้เป็นจุดที่เป็นที่สังเกตของโรคนี้ นอกจากนี้ยังพบการบวมน้ำของผนังเยื่อบุกระเพาะแท้ คลุมด้วยเมือกหนา และพบจุดเลือดกระจายในระดับที่แตกต่างกัน บางครั้งพบวิการที่ขอบของกระเพาะแท้ หรือหลอดอาหาร

อาการที่พบบ่อย ๆ ของกลุ่มนี้คือ พบเนื้อตายที่มีเลือดออก และตุ่มที่ผนังช่องปาก กระเพาะและลำไส้ ปกติโรคนี้มีความชุกสูงในไก่ระยะไข่ พบน้อยในไก่งวง นกหายาก และนกป่า

การจำแนกสเตรนความรุนแรงของเชื้อไวรัสนั้นขึ้นอยู่กับพยาธิกำเนิดต่อตัวอ่อนของลูกไก่ โดยจำแนกเป็น สเตรนอ่อน (Lentogenic) สเตรนแรงปานกลาง (Mesogenic) และ สเตรนแรง (Velogenic) วัคซีนที่ผลิตมาจากเชื้อสเตรนอ่อนนั้นสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันในระยะสั้นเท่านั้นทำให้ต้องมีการทำวัคซีนซ้ำ วัคซีนที่ผลิตจากเชื้อสเตรนแรงปานกลางจะให้ภูมิคุ้มกันที่ยาวนานกว่า แต่สามารถทำให้เกิดการตายได้โดยเฉพาะในฝูงที่ไม่เคยทำวัคซีนมาก่อน บ่อยครั้งที่พบว่ามีการขยายขนาดและมีเลือดออกที่ต่อมทอนซิลในไส้ตัน และบริเวณทวาร ปกติอาการเหล่านี้เริ่มจากเนื้อเยื่อน้ำเหลืองของผนังเยื่อก่อน

ถ้าพบการติดเชื้อไวรัสในไข่ฟักแล้วจะส่งผลทำให้ตัวอ่อนตาย และฟักไม่ออก เชื้อไวรัสที่ขับออกมาจากไก่ที่ป่วยสามารถอยู่ได้ในอาหาร น้ำ และสภาพแวดล้อม ซึ่งจะเป็นแหล่งของการติดเชื้อได้ เชื้อไวรัสสามารถติดต่อผ่านทางการกิน อากาศ และการสัมผัส ไม่พบการเป็นพาหะของเชื้ออย่างถาวร ปัจจัยที่สำคัญในการติดต่อของเชื้อไวรัสก่อโรคจะมาจากนกนำเข้าต่างประเทศ และไก่ชน อัตราการตายสามารถสูงถึง 70 – 100%

โรคนิวคาสเซิล
กลุ่มแสดงอาการทางระบบประสาท (The neurotropic form)ไก่แสดงอาการเคลื่อนไหวผิดปกติ และมีอาการคอบิด มีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ อัมพฤกษ์ และอัมพาตของขา อาการกลุ่มนี้พบบ่อยว่าเกิดควบคู่กับอาการทางระบบทางเดินหายใจ ลักษณะทางจุลพยาธิวิทยา จะเป็นการอักเสบแบบไม่มีหนอง พบลิมโฟไซต์แทรกอยู่ในเซลล์ของสมอง

โรคกล่องเสียงอักเสบติดต่อ
โรคกล่องเสียงอักเสบติดต่อ
โรคกล่องเสียงอักเสบติดต่อเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโดยก่อโรคที่ระบบทางเดินหายใจในไก่ ไก่ฟ้า และนกยูง  ลักษณะเฉพาะของโรคนี้คือ พบการอักเสบของเยื่อเมือกแบบมีเมือกปนเลือด จนถึงพบแผ่นเนื้อตายที่เนื้อเยื่อบุผิวทางเดินหายใจ มักจะพบอาการในส่วนของกล่องเสียงและหลอดคอ โดยพบว่าไก่แสดงอาการหายใจลำบากและไอ ไก่จะแสดงอาการยืดบริเวณส่วนหัวและคอไปข้างหน้าและยกขึ้นด้านบนขณะหายใจเข้า พบเมือกอุดตันในส่วนของกล่องเสียงและหลอดคอ โดยมีลักษณะเป็นเมือกปนเลือดจนถึงพบแผ่นเนื้อตาย พบการอักเสบแบบมีเลือดออกที่บริเวณกล่องเสียงและหลอดคอ

แม้ว่าโรคนี้จะสามารถทำอันตรายในสัตว์ปีกได้ทุกอายุแต่การระบาดส่วนใหญ่มักพบในไก่อายุระหว่าง 4-14 สัปดาห์ สาเหตุของโรคนี้เกิดจากเชื้อเฮอร์ปีส์ไวรัส (Herpes virus) ที่ทนทานค่อนข้างสูงในสภาพแวดล้อม อัตราการป่วยของโรคนี้สามารถสูงถึง 50 – 70% และพบอัตราการตาย 10 – 20% มักจะพบบ่อย ๆ ว่าก่อปัญหาร่วมกับเชื้อหลายชนิด ได้แก่ E.coli, Staphylococcus aureus, Mycoplasma gallisepticum และเชื้ออื่น ๆ ในบางกรณีพบว่าก้อนของสิ่งคัดหลั่งที่ปนด้วยเลือดหรือแผ่นเนื้อตาย อุดตันการทำงานของกล่องเสียงและหลอดคอ

ที่มาของการติดเชื้อนี้คือ ไก่ที่ป่วย หรือไก่ที่หายจากการป่วยแล้ว ซึ่งจะสามารถเป็นตัวนำเชื้อไวรัสต่อไปได้อีก 1-2 ปี ในรูปแบบที่ทำให้เกิดอาการที่เยื่อตาขาว (conjunctival form) จะพบว่าไก่มีน้ำตา และมีการบวมน้ำของโพรงอากาศใต้ตา (infraorbital sinuses) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่มีการติดเชื้อแทรกซ้อน อาการทางคลินิกและและวิการที่พบนั้นเพียงพอที่จะบอกถึงการเกิดปัญหาของโรคนี้ การวินิจฉัยนั้นสามารถยืนยันได้โดยการตรวจทางจุลพยาธิวิทยาของหลอดลมในระยะแรกของการเกิดโรค (Intranuclear inclusion bodies) หรือการตรวจทางซีรั่มวิทยา (VN, ELISA) และวิธีอื่น ๆ

โรคกล่องเสียงอักเสบ ควรมีการวินิจฉัยแยกจากโรคหลอดลมอักเสบติดต่อ (IB) โรคหัวบวม (swollen head syndrome) และการติดเชื้อ Mycoplasma synoviae และโรคอื่น ๆ  พื้นที่ที่มีการพบปัญหาโรคกล่องเสียงอักเสบควรมีการล้างทำความสะอาด ทำการฆ่าเชื้อ และพักเล้าไว้ประมาณ 5-6 สัปดาห์ การทำวัคซีนในฝูงไก่ที่ไม่ป่วย และงดการใช้อุปกรณ์ร่วมกับฝูงที่ป่วยสามารถช่วยป้องกันและหยุดผลกระทบของการเกิดโรคได้

โรคกัมโบโร
โรคกัมโบโร
 โรคกัมโบโร เป็นโรคที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีการแพร่กระจายเชื้อได้อย่างรวดเร็วในไก่ ส่งผลทำให้เกิดการอักเสบ และฝ่อของต่อมเบอร์ซ่า เกิดการบวมของเนื้อไตในระดับต่าง ๆ และกดการสร้างภูมิคุ้มกัน มักพบอาการทางคลินิกในไก่ที่อายุมากกว่า 3 สัปดาห์ โดยลักษณะภายนอกที่พบจะเห็นว่าขนไก่ที่อยู่รอบๆ รูทวารจะเต็มไปด้วยมูลไก่ และคราบยูเรต

ช่วงอายุที่พบอาการและอัตราการตายสูงนั้นอยู่ที่อายุ 3-6 สัปดาห์ โรคกัมโบโรสามารถก่อปัญหาได้ตราบใดที่ยังคงมีการทำหน้าที่ของต่อมเบอร์ซ่า (อาจนานถึง 16 สัปดาห์) ในไก่ที่อายุน้อยกว่า 3 สัปดาห์ การพบปัญหาโรคกัมโบโรนั้นจะเป็นแบบแสดงไม่แสดงอาการ (subclinical) แต่ความเสียหายของต่อมเบอร์ซ่าทำให้เกิดภาวะกดการสร้างภูมิคุ้มกัน ยิ่งไปกว่านั้น ยังพบอาการท้องเสีย เบื่ออาหาร ซึม ขนฟูโดยจะเห็นได้ชัดบริเวณส่วนหัวและคอ

การติดเชื้อโรคกัมโบโรในธรรมชาตินั้นส่วนมากพบในไก่ ส่วนในไก่งวงและเป็ดจะเป็นการติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการ (subclinical) ไม่พบภาวะกดการสร้างภูมิคุ้มกัน การแยกเชื้อไวรัสในไก่งวงส่วนใหญ่จะให้ผลทางซีรัมวิทยาแตกต่างจากในไก่ ในพื้นที่ที่เคยพบปัญหาโรคกัมโบโรมาก่อนมีโอกาสที่โรคจะกลับมาก่อปัญหาอีกได้ โดยมักจะพบว่าเป็นการติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการ ไก่ที่ตายจะพบการขาดน้ำ บ่อยครั้งพบเลือดออกที่ส่วนกล้ามเนื้อหน้าอก ต้นขา และหน้าท้อง

  เชื้อไวรัสโรคกัมโบโรนั้นจัดอยู่ในกลุ่มสมาชิกของเบอร์น่าไวรัสซึ่งเป็นอาร์เอ็นเอไวรัส โดยแบ่งออกเป็น 2 ซีโรไทป์ แต่พบว่าเพียงแค่ซีโรไทป์ 1 เท่านั้นที่ก่อให้เกิดปัญหา  เชื้อไวรัสมีความทนทานค่อนข้างสูงต่อยาฆ่าเชื้อชนิดต่าง ๆ และมีความคงตัวสูงในสภาพแวดล้อมจากข้อมูลเชื้อไวรัสสามารถคงตัวในพื้นดินอยู่ได้นานเป็นเดือนส่วนในน้ำ อาหารสัตว์และในมูลสัตว์เชื้อสามารถอยู่ได้นานเป็นสัปดาห์   ระยะฟักตัวของเชื้อค่อนข้างสั้น โดยเริ่มพบอาการภายหลังได้รับเชื้อ 2-3 วัน  วิการที่ต่อมเบอร์ซ่าจะมีการพัฒนา โดยในช่วงแรกพบว่าต่อมเบอร์ซามีการขยายขนาด พบการบวมน้ำ และถูกคลุมด้วยวุ้นรอบต่อมเบอร์ซ่า

 เชื้อไวรัสกัมโบโรมีความสามารถในการทำลายเม็ดเลือดขาว และความเสียหายส่วนใหญ่เกิดขึ้นในส่วนของเนื้อเยื่อน้ำเหลืองในต่อมเบอร์ซ่า ซึ่งพบบ่อย ๆ ว่าเชื้อกัมโบโรทำให้เกิดการอักเสบของต่อมเบอร์ซา  วิการของกัมโบโร ในระยะต่าง ๆ ตั้งแต่พบสภาพเลือดออกที่ต่อมเบอร์ซาไม่รุนแรงจนถึงพบการอักเสบอย่างรุนแรงของต่อมเบอร์ซ่า

อัตราการป่วยค่อนข้างสูง และสามารถสูงถึง 100% อัตราการตายอยู่ที่  20 – 30% ระยะของการเกิดโรคอยู่ที่  5 – 7 วัน และอัตราการตายสูงสุดจะเกิดขึ้นในช่วงกลางของการเกิดโรค ในบางราย ต่อมเบอร์ซ่าจะเต็มไปด้วยหนองแข็งซึ่งพบบ่อย ๆ ในไก่ที่รอดจากการติดเชื้อระยะเฉียบพลัน ต่อมเบอร์ซ่าจะพัฒนาสู่ระยะที่มีการฝ่อ ลักษณะทางจุลภาค พบการฝ่อของเนื้อเยื่อน้ำเหลืองภายในต่อมเบอร์ซ่า แทนที่การอักเสบของเนื้อเยื่อที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ไตที่ได้รับผลกระทบของการติดเชื้อจะพบการคั่งของยูเรตในเนื้อไต

ในกรณีที่พบโรคอย่างเฉียบพลัน และมีอาการของโรคที่ชัดเจน การวินิจฉัยทำได้ค่อนข้างง่าย ควรจะทำการยืนยันการวินิจฉัยโดยการผ่าซากพิสูจน์วิการและตรวจทางพยาธิกายวิภาคร่วมด้วย (pathoanatomical study) โรคกัมโบโรจะต้องวินิจแยกแยะกับโรค IBH (inclusion body hepatitis) ด้วยการทำวัคซีนเชื้อเป็นในไก่เป็นสิ่งที่สำคัญในการป้องกันโรคกัมโบโร และควรจะสัมพันธ์กับระดับภูมิคุ้มกันที่ได้รับจากแม่

โรคอหิวาต์เป็ด-ไก่
โรคอหิวาต์เป็ด-ไก่
เป็นโรคติดต่อร้ายแรงที่พบได้ในไก่ เป็ด ห่าน และนกอีกหลายชนิดระบาดได้ทุกฤดูกาล สาเหตุและการติดต่อ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ติดต่อได้หลายทาง เช่น โดยกินอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อโรคเข้าไปและติดต่อกันต่อไปในสัตว์ป่วยที่อยู่ใกล้ชิดกัน , เชื้อโรคติดไปกับอุปกรณ์การเลี้ยง คน และสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว ตลอดจน นก หนู ก็เป็นตัวนำโรคได้ , เป็ด-ไก่ที่เลี้ยงใกล้แหล่งน้ำ ซากเป็ด-ไก่ที่เป็นโรคและสิ่งขับถ่ายที่ตกลงในน้ำนั้น เชื้อโรคจะแพร่กระจายไปตามกระแสน้ำได้ , จากการชำแหละเป็ด-ไก่ ที่ป่วยและตายด้วยโรคซึ่งเชื้อโรคสามารถแพร่กระจายไปสู่เป็ด-ไก่ ตัวอื่น ๆ ในเล้าและเป็ด-ไก่บริเวณใกล้เคียงได้

การแสดงอาการ ถ้าเป็นอย่างร้ายแรงเป็ด-ไก่อาจตาย โดยไม่แสดงอาการให้เห็น ถ้าเป็นอย่างอ่อน ไก่อาจจะป่วยเป็นแรมเดือน มีอาการหงอยซึม เบื่ออาหารกระหายน้ำจัด ท้องร่วง อุจจาระมีสีเหลืองหรือเขียว หงอนและเหนียงมีสีคล้ำกว่าปกติ ในรายที่เป็นอย่างเรื้อรัง เหนียงจะบวม บางตัวจะบวมที่ข้อขา ทำให้เดินไม่สะดวก

การสุขาภิบาลสำคัญมากในการป้องกันโรค ต้องระวังความสะอาดภายในเล้าไก่ การสร้างโรงเรือนต้อง โปร่ง เย็นสบาย ไม่อบอ้าว ไม่สกปรก การฉีดวัคซีนป้องกันโรคอหิวาห์เป็ด-ไก่ เมื่อไก่อายุ 1-3 เดือน ฉีดวัคซีนแทงเข้ากล้ามเนื้อหรือใต้ผิวหนัง จำนวน 1 ซี.ซี. ไก่จะมีภูมิคุ้มโรคได้นาน 3 เดือน หรือไก่อายุ 3 เดือนขึ้นไป ฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อหรือได้ผิวหนังเช่นกัน แต่ใช้จำนวน 2 ซี.ซี. ไก่ก็จะมีภูมิคุ้มโรคได้นาน 3 เดือน และต้องทำซ้ำทุก 3 เดือน

การรักษาโดยใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาซัลฟาบางตัวละลายน้ำให้ไก่กินติดต่อกัน 2-3 วัน และควรหารือกับสัตวแพทย์ในท้องที่

โรคหลอดลมอักเสบติดต่อ
โรคหลอดลมอักเสบติดต่อ
เป็นโรคติดต่อทางระบบหายใจ เกิดได้กับไก่ทุกอายุ แต่ในลูกไก่เล็กจะติดโรคนี้ได้ง่ายกว่าและตายมากกว่าในไก่ใหญ่ ไก่แสดงอาการคล้ายเป็นหวัด โดยเฉพาะในลูกไก่จะมีอาการหายใจลำบาก อ้าปากเวลาที่หายใจและมีเสียงดังครืดคราด ตาแฉะ หงอยซึม ลูกไก่มักตายเพราะหายใจไม่ออก เนื่องจากจะมีน้ำเมือกอุดในหลอดลม ส่วนในแม่ไก่จะตายน้อยกว่า แต่มีผลกระทบต่อการไข่ ทำให้ไข่ลดลงอย่างรวดเร็ว คุณภาพของไข่เลวลง เช่น เปลือกไข่บาง นิ่ม ขรุขระ ไข่ขาวเหลวเป็นน้ำ ฟักออกเป็นตัวน้อย

สาเหตุและการติดต่อ เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง การแพร่ระบาดรวดเร็วมาก ไก่จะได้รับเชื้อโรคโดยการหายใจเอาเชื้อโรคที่ปลิวฟุ้งอยู่ในอากาศ หรือการกินเอาเชื้อโรค ที่ปนอยู่ในอาหารหรือน้ำเข้าไป

ในการป้องกันมิให้เกิดโรค มีข้อแนะนำ ดังนี้

อย่าเลี้ยงลูกไก่ต่างรุ่นปนเปกัน ควรเลี้ยงไก่เล็กให้อยู่ห่างจากไก่ใหญ่
หมั่นดูแลความสะอาดเล้าไก่ และภาชนะต่าง ๆ ที่ใช้ในเล้าไก่และใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรค
อาหารที่ใช้เลี้ยงไก่ต้องเป็นอาหารที่มีคุณภาพดี อาหารที่ไก่กินไม่หมดให้ทิ้ง อย่าปล่อยให้เน่าเสีย ควรกวาดล้างให้หมด
โรคนี้ไม่มียารักษาโดยตรง วิธีป้องกันที่ดีที่สุด คือ การให้วัคซีนป้องกันโรคล่วงหน้า โดยใช้วัคซีนหยอดตาหรือหยอดจมูกลูกไก่ เมื่ออายุได้ 2 อาทิตย์ และหยอดซ้ำทุก ๆ 3 เดือน
โรคพยาธิภายนอก
อีกหนึ่ง โรคไก่ที่ควรระวัง พยาธิภายนอกได้แก่ เหา หมัด ไร ที่อาศัยอยู่ตามผิวหนังและขนไก่จะดูดเลือดและกัดกินผิวหนังและขนไก่ ทำความรำคาญทั้งกลางวันและกลางไก่ไม่มีความสุข สุขภาพไก่อ่อนแอ ซูบผอมลง โลหิตจางและความต้านทานโรคลดลง

รักษา โดยใช้ยากำจัดพยาธิภายนอกที่มีจำหน่ายในท้องตลาด เช่น โรทิโนนมาลาไทออนใช้ละลายน้ำฉีดพ่นบริเวณเล้าไก่และกรงไก่เป็นประจำอย่าให้ถูกตัวไก่ แต่เวลาพ่นจะต้องระวังเพราะเป็นอันตราย โดยใช้มาลาไทออน 5% แต่อาจใช้ละลายน้ำอย่างอ่อน ๆ ในขนาดเพียง 0.5% จุ่มไก่ลงในน้ำยาเพื่อฆ่าหมัดหรือไรตามตัวไก่ ที่ใช้ทั่ว ๆ ไป ได้แก่ โล่ติ๊น ทุบแช่น้ำให้น้ำขาวออกแล้วผสมน้ำลงไปพอประมาณ จับไก่ลงจุ่ม หรือจะใช้ยาผงสำเร็จรูปโรยตามตัวไก่โดยตรงก็ได้ หรืออาจใช้ยาสูบอย่างฉุนแช่น้ำในปี๊บให้เข้มข้นแล้วจับตัวไก่จุ่มลงไปหรือจะตำยาสูบอย่างฉุนให้ป่นแล้วนำไปโรยตามรังไข่และบริเวณเล้าไก่ก็ได้
หรืออีกวิธีหนึ่ง ให้ทำที่เกลือกฝุ่น โดยนำกล่องสี่เหลี่ยมลึกประมาณ 1 คืบ ใช้ยาสูบอย่างฉุนต่ำให้ป่นเป็นแป้งผสมกับปูนขาว (หรือขี้เถ้า) และดินใส่ไว้ในลัง ราดน้ำให้ชุ่มนิดหน่อยเพราะไก่ชอบเกลือกวิธีนี้จะช่วยลดเหาะและไรไก่ลงได้ ทั้งประหยัดและได้ผลดี

โรคพยาธิไส้เดือนของไก่
พยาธิไส้เดือนของไก่พบในไก่พื้นเมืองบ่อย ๆ พยาธิชนิดนี้จะทำอันตรายไก่ระหว่างอายุ 1-3 เดือนได้มาก ถ้าป้องกันมิให้ไก่เป็นพยาธินี้จนอายุ เกิน 3 เดือนไปแล้ว อันตรายและความเสียหายจะมีน้อยลง ไข่พยาธิจะปนออกมากับอุจจาระ เมื่อความร้อนและความชุ่มชื้นพอเหมาะ ไข่พยาธิจะเจริญเป็นระยะติดต่อซึ่งจะมีตัวอ่อนอยู่ภายใน ไก่จะติดพยาธิโดยกินไข่ระยะติดต่อเข้าไป ไก่อายุ 1-3 เดือน เมื่อเป็นโรคพยาธิชนิดนี้จะมีอาการซูบผอม เบื่ออาหาร ขนหยอง ปีกตก เติบโตช้า ท้องเสีย ถ้ามีพยาธิมาก ลูกไก่อาจตายภายใน 10 วัน ในไก่ใหญ่ จำนวนไข่ลดลงจนสังเกตเห็นได้ชัด

การป้องกันและกำจัดพยาธิ

ทำความสะอาดคอก กวาดอุจจาระบ่อย ๆ แล้วนำไปทิ้งให้ไกลจากที่เลี้ยงไก่ หรือเอาไปใส่ถังไม้ 2 ชั้น ซึ่งระหว่างกลางใส่ขี้เลื่อยไว้และมีฝาปิด และทิ้งไว้ 2 อาทิตย์ ไข่พยาธิจะถูกทำลายเอาอุจจาระไปใช้เป็นปุ๋ยได้
อย่าให้คอกชื้นแฉะ และพยาธิให้คอกถูกแสงแดดเสมอ
การเลี้ยงลูกไก่บนตะแกรงลวดตาข่ายจะป้องกันพยาธิได้ดี
การรักษาพยาธิไส้เดือน ใช้ยาพวกปิปเปอราซีนชนิดแคปซูล ขนาด 200 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัวไก่ 1 กก. หรือใช้ผสมลงในอาหารให้ไก่กินในขนาด 0.5 เปอร์เซ็นต์ เมื่อไก่อายุได้ 2-3 เดือน ไม่ควรให้อาหารมากเกินไป ควรผสมให้ไก่กินอาหารได้หมดในวันเดียว หรืออาจจะให้ไก่อดอาหารก่อนให้ยาก็ได้ เพื่อทำให้ไก่อยากกินอาหารมากขึ้น ในวันที่ให้ยาถ่ายพยาธิ ต่อไปให้ซ้ำเป็นระยะ ๆ ทุก 3-4 เดือน จะช่วยให้ไก่แข็งแรงสมบูรณ์ หรือถ้าไม่สะดวกในการหาซื้อจะใช้ของที่มีอยู่ในพื้นบ้านก็ได้ โดยใช้หมากแข็งที่ใช้กินนำมาแช่น้ำให้อ่อนตัวแล้วตำให้แหลก ปั้นให้เป็นเม็ดขนาดเมล็ดข้าวโพดให้ไก่กินตัวละ 1 เม็ด
โรคพยาธินัยน์ตาไก่
พยาธินัยน์ตาไก่มักพบได้เสมอในไก่ที่เลี้ยงปล่อยให้หากินตามที่รกหรือในเล้าที่มีแมลงสาบอาศัยอยู่ จะพบว่านัยน์ตาไก่จะมีพยาธิตัวเล็ก ๆ สีขาว ยาวประมาณครึ่งเซนติเมตร อยู่ในมุมตาด้านหัวตาของไก่ สาเหตุเกิดจาก แมลงสาบเป็นพาหะชั่วคราวที่พยาธิจะไปเจริญเติบโตจากไข่เป็นตัวอ่อนอยู่ภายในแมลงสาบ เมื่อไก่กินแมลงสาบเข้าไป ก็จะติดโรคพยาธินี้ ตัวอ่อนพยาธิจะเคลื่อนตัวจากปากของไก่เข้าไปทางช่องจมูกแล้วเข้าไปในท่อน้ำตาไปสู่ที่หัวตา

ไก่จะกะพริบตาบ่อย ๆ น้ำตาไหล ถูตากับหัวปีก พยาธิจะรบกวนตาไก่ทำให้ตาอักเสบเป็นหนอง ตาบวมปิดและจะพบพยาธินัยน์ตาไก่ซ่อนอยู่ที่มุมตาด้านหัวตาของไก่

การป้องกันและรักษา ต้องกำจัดแมลงสาบให้หมดไปจากบริเวณเล้าไก่ รักษาความสะอาดของเล้าไก่ และที่เก็บอาหาร อย่าให้รกรุงรังเป็นที่อาศัยของแมลงสาบได้ การรักษาโดยใช้ไม้พันสำลี เขี่ยเอาก้อนหนองที่นัยน์ตาออกแล้วใช้น้ำเกลือหรือน้ำมะเกลือนั้น หรืออาจใช้ยาฉุนแช่น้ำจนได้น้ำสีชาอ่อน ๆ หยอดนัยน์ตาไก่ แล้วเขี่ยเอาพยาธิออก หยอดตาด้วยยาหยอดตาที่มียาปฏิชีวนะ เช่น คลอแรมเฟนนิคอล เพื่อลดการอักเสบของตา วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น ประมาณ 2-3 วัน จนกว่าจะหายเป็นปกติ

และนี่ก็เป็น โรคไก่ที่ควรระวัง ควรหมั่นเช็คอาการไก่ของคุณให้ดี เพื่อไก้คู่ใจของเราสุขภาพแข็งแรงอยู่เสมอ

 

 

 

 

 

อ่านบทความเพิ่มเติม : Prissy Princess

ADS Fix3
ADS Fix5