ไก่พม่ามีดีอะไร
รูปร่างและขนาดไก่พม่า ไก่พม่าลูก 100 % มีขนาดเล็ก น้ำหนักประมาณ 2.00 – 2.50 ด้วยเหตูนี้เองจึงนิยมเล่นลูกผสมไทยบ้าง ผสมเวียดนามบ้าง หรือบางคนก็เล่นสามสายเลือดไปเลย ไก่พม่ามีลักษณะโดยทั่วไปที่สังเกตได้ คือ
– มีขนาดเล็ก กระดูกบาง
– หน้าเล็กแหลม ปากเป็นแนวเส้นตรง ปลายงุ้มเล็กน้อย
– หงอนมักเป็นหงอนแจ้แบบหงอนงู หรือหงอนชี้ฟ้า หรือหงอนนาคราช
– ตาโปน
– สนับปีกหนาและยาว
– แข้งเล็กและมักแข้งอิ่ม บ่งบอกว่าเป็นไก่ตีไว ตีแม่น
– เดือยส่ง
– ตุ้มหูมักขาว (คิดว่าคงสืบเชื้อสายมาจากไก่ป่า)
ชั้นเชิงลีลาแม่ไม้ไก่พม่า ไก่พม่าเป็นไก่ที่มีลีลาชั้นเชิงชั้นยอด คือ ไม่ยอมปะทะกับคู่ต่อสู้ตรงๆ เพราะไก่พม่ามีขนาดเล็ก จึงเป็นไก่คอยฉวยโอกาส หรือไก่จังหวะสอง ชั้นเชิงไก่พม่าเป็นแบบ “สนลู่ลม” หรือต้นอ้อ ชั้นเชิงไก่พม่าที่เด่นๆ และนักเลงไก่ชอบมีดังนี้
– เชิงถอยดีดแข้งเปล่ารับโดยไม่ใช้ปากจิกคู่ต่อสู้
– เชิงเปลี่ยนหน้าตี คือ พอถูกกอดจะโยกหน้าหลบเข้าอีกข้าง
– เชิงชักลิ่มตี เมื่อถูกกอดขี่ทับจะเป็นไก่คออ่อนไม่ฝืนสู้คอ ถอดหัวออกตี
– เชิงลักตีขโมยตี เข้ามุดหัวติดดิน เผลอขึ้นมาตีแล้วลงไปซุกต่อ
– เชิงม้าล่อ เมื่อถูกกอดขี่จะออกวิ่งให้คู่ต่อสู้วิ่งไล่ตาม พอได้จังหวะจะหันมาดีดแข้งใส่ หรือเมื่อเห็นคู่ต่อสู้เหนื่อยก็จะหันกลับมาตี
ที่สำคัญไก่พม่าเป็นไก่ปากไว ตีนไว เดือยไว ถี่แม่น สาดทีสองที แทงหูแทงตาเลยก็มี และไก่พม่าเป็นไก่เจ้าเล่ห์ โดนตีนิด ตีหน่อยมักล้มลุกคลุกคลานเหมือนกับเจ็บเสียเต็มประดา แต่อย่าเผลอ บางทีถูกตีลงไปนอน พอคู่ต่อสู้เข้าไปใกล้ๆ มันจะสาดเข้าใส่ทั้งๆที่กำลังนอนอยู่ก็มี จุดด้อยของไก่พม่า โดยสรุปมีดังนี้
– กระดูกโครงสร้างเล็ก เมื่อเทียบกับไก่ไทยและไก่ไซง่อน ดังนั้นไก่พม่าเวลาถูกตีตัว ตีอัดสามเหลี่ยมหน้าอุด มักสู้ไม่ได้
– ไก่พม่าลูกหนุ่มใจไม่ค่อยเต็มร้อย ถูกตีเจ็บๆมักจะถอดใจหนีง่ายๆ
– ไก่พม่าเมื่อเจอไก่เชิงมุดมัดหัวต่ำ มักตีไม่ค่อยถูก แต่ถ้าเป็นไก่หัวสูงไก่พม่าจะชอบ เพราะสาดแข้งเปล่าได้ถนัด
ชั้นเชิงไก่ที่สามารถปราบไก่พม่าได้ ต้องเป็นชั้นเชิงเดินอัด เดินบี้ ตีตัว ตีอัดเข้าบริเวณสามเหลี่ยม หรือหน้ากระเพาะ ลูกหน้าไว เท้าหุ่นตีตัว มักตีสวาปตีหลัง
เรื่องไก่พม่าที่ควรรู้
การเลี้ยงไก่พม่าก่อนออกชนทำอย่างไร? เลี้ยงเหมือนไก่ไทยหรือเปล่า? เช่น ต้องลงขมิ้น ถ้าลงขมิ้นแล้วไม่บินจริงหรือเปล่า ? เรื่องนี้เป็นเรื่องที่หลายๆคนถามกันมากมาย คำตอบที่ได้ก็ไม่กระจ่างนัก
ก่อนอื่นลองมาวิเคราะห์ดูการเล่นและการเลี้ยงไก่พม่าเป็นอย่างไร และลูกผสมไก่พม่ามีเลี้ยงและเล่นกันมากในภาคเหนือของไทย เพิ่งจะแพร่หลายไปทั่วประเทศประมาณ 3-4 ปีมานี้เอง การชนไก่ทางภาคเหนือนิยมชนแบบปล่อยเดือย ไม่มีการพันพลาสเตอร์เหมือนภาคกลาง ดังนั้นไก่จึงใช้เวลาตีไม่มากอัน เพราะไก่ทนพิษบาดแผลไม่ได้ เพราะถูกแทงด้วยเดือย อย่างมาก 2-3 อัน ก็รู้ผลแพ้ ชนะแล้ว ดังนั้นทางภาคเหนือซึ่งส่วนใหญ่เป็นไก่ลูกผสมไทยพม่ากันมาก จะฟิตซ้อมหรือปล้ำประมาณ 2-3 อัน ก็นำไปชนกันแล้ว เขาจึงไม่นิยมลงขมิ้น
อีกประการหนึ่ง ในภาคเเหนืออากาศเย็นและหนาว ในหน้าหนาวหรือในช่วงเดือน 11-12 ถึงเดือนอ้าย เดือนยี่อากาสหนาวแดดไม่ค่อยมี ขืนกราดน้ำลงขมิ้น กราดแดดครึ่งวัน ตัวคงไม่แห้ง ไก่คงหนาวตายแน่ ส่วนใหญ่เขาจะอาบน้ำพอประมาณไม่ให้เปียกทุกขุมขนเหมือนภาคกลาง แต่จะเน้นการออกกำลัง เช่น วิ่งสุม ล่อวิ่ง และปล่อยเล้าหรือให้เดินตามบริเวณบ้านเสียเป็นส่วนใหญ่ จึงไม่นิยมลงขมิ้น
ส่วนในภาคกลาง มีการเลี้ยงฟิตซ้อมไก่ให้แข็งแรง เพราะต้องชนกันถึง 12 ยก ไก่ตัวหนึ่งกว่าจะได้ออกตีต้องปล้ำหรือซ้อมคุ่ไม่ต่ำกว่า 8-9 ยก บางตัวเกิน 10 ยก โดยเฉพาะไก่ถ่าย ถึงจะออกตี จึงนิยมลงขมิ้นเพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแกร่ง ผิวหนา นอกจากลงขมิ้นแล้วยังประคบกระเบื้องอีกด้วย ดังนั้นไก่ทางภาคกลางที่ออกบิ่นแต่ละตัวจะมีผิวพรรณหนังหนาและแดง การลงขมิ้นจะทำให้ผิวไก่สวยขึ้น และขนสวยโดยเฉพาะไก่เหลืองหางขาว ขมิ้นไม่ได้ทำให้ไก่เก่งหรือไม่เก่ง หรือทำให้ไก่บินดีหรือไม่ดี
สรุป การลงขมิ้นไก่ ไม่มีผลต่อการบินของไก่ ว่าจะบินดีหรือไม่ดี ไก่จะบินดีหรือไม่ดีขึ้นอยู่กับการฟิตซ้อมออกกำลังไก่มากกว่า ดังนั้นไม่ว่าจะเลี้ยงไก่อะไรก็แล้วแต่จะเป็นไก่ไทย ไก่พม่า จะลงขมิ้นหรือไม่ลงแล้วแต่คนเลี้ยงชอบ ไม่มีผลต่างกัน ข้อสำคัญอย่าให้มากเกินไป ถ้าลงขมิ้นมากเกินไปจะทำให้เนื้อและผิวไก่ตึงได้
ไก่ลูกผสมสายเลือดไทยพม่าและลูกผสมร้อยแบบไหนดี ขอแยกแยะข้อดีและจุดเด่นได้ดังนี้
พม่าลูก 100 % ลีลาชั้นเชิงฝีตีนถือว่ายอดเยี่ยม โดยเฉพราะตัวที่เก่งๆ ส่วนตัวที่ไม่เก่งไม่นับ แต่มีข้อเสีย คือ มีขนาดเล็กไม่รู้จะเลี้ยงไปตีกับใคร ?
ลูกผสมไทย-พม่า 75% (พม่า 75%) ลีลาฝีตีนชั้นเชิงจัด ใกล้เคียงกับไก่พม่าทีเดียว ใช้ตีกับไก่พม่าลูก 100% ได้ แต่รูปร่างโครงสร้างและขนาด เล็กไม่ถึง 3.00 กก. ยกเว้นบางตัว
ลูกผสมไทย-พม่า 50% ลีลาชั้นเชิงฝีตีนลดลง คือ ไม่จัดเท่ากับไก่พม่าลูก 100% แต่มีขนาดและโครงสร้างร่างกายโตขึ้นถึง 3.00 กก. หรือมากกว่า ยกเว้นบางตัวอาจจะลีลาชั้นเชิงใกล้เคียงไก่พม่าลูก 100%
ลูกผสมไทย-พม่า 25% (พม่า 25%) ลีลาชั้นเชิงฝีตีนจะลดลงไปอีก คือ คล้ายกับไก่ไทยมากขึ้น แต่มีขนาดที่โตขึ้น คือ มีน้ำหนักเกิน 3.00 กก. แต่มักเป็นไก่ปากไว ตีแม่นและแม่นตอ
สรุป จะนิยมเล่นลูกผสมไทย-พม่า 25% มากกว่าลูกผสมแบบอื่นๆ ปัจจุบันได้นำไก่พม่ามาผสมกับไก่สายเลือดไซง่อน ทำให้ลูกผสมที่ได้มีขนาดโตขึ้นอีก นอกจากนี้ยังมีการผสมแบบสามสายเลือด คือ ไทย พม่า ไซง่อน ชั้นเชิงฝีตีนมีดังนี้
– เป็นไก่ปากไว มีลูกสาดแข้งเปล่า ขยันตี
– เป็นไก่ตีแม่น ตีแผล
– เป็นไก่ตีลำโต
– ชั้นเชิงไม่มาก พอเอาตัวรอด
ไก่พม่าควรออกชนช่วงไหนถึงจะเหมาะ
ไก่พม่าที่จะคัดนำมาเลี้ยงชนต้องเป็นไก่เก่งเท่านั้น คือ คัดไก่ที่ตีถูก ตีแม่น ก่อนเป็นอันดับแรก เรื่องลีลาและความแข็งแกร่งค่อยว่ากันทีหลัง
การเลี้ยงไก่พม่าไม่ต้องหนักขมิ้นและกระเบื้อง เพราะไก่พม่าต้องการความคล่องตัวสูง ถ้าตัวตึงจะไม่ค่อยตีไก่ ไก่พม่าที่ตัวเก่งๆไม่จำเป็นต้องซ้อมหนัก ซ้อมเยอะมากเกินไป ดูแค่ว่าแข็งแรง บินดี ฟอร์มกำลังสดก็นำไปชนได้
ยกตัวอย่าง ถ้ามีไก่พม่าอยู่ตัวหนึ่งเก่งมาก นำมาเลี้ยงเพื่อออกชน ปล้ำครั้งแรกก็น๊อคคู่ต่อสู้แต่อาจจะแรงไม่ค่อยดี นำกลับมาเลี้ยงใหม่ ปล้ำครั้งที่ 2 ก็ยังฟอร์มดีอยู่ ปล้ำครั้งที่ 3 ครั้งนี้ก็เป็นที่ประทับใจ ครั้งที่ 1-3 อาจจะปล้ำครั้งละอันหรืออาจจะน๊อคคู่ต่อสู้ก่อน ปล้ำครั้งที่ 4 พยายามเดินยาวให้ได้ 2 อัน ถ้าตัวแรกถูกน๊อคก็ควรหาตัวใหม่มาซ้อม ครั้งนี้สำคัญมากต้องดูให้ละเอียดถ้าฟอร์มสด บินดี แข็งแรงดุดัน กลับมาเดินนวมอีกซัก 2 อันก็ออกชนได้ ถ้าเป็นไก่พม่าตัวเก่งจริงๆ ปล้ำแค่ 5-6 อันก็ออกชนได้ แต่ต้องมีส่วนประกอบอย่างอื่นด้วย เช่น การออกกำลัง ลงนวม เตะเป้า วิ่งสุ่ม สิ่งเหล่านี้จะขาดไม่ได้
ส่วนเรื่องที่สำคัญอีกอย่างที่ไม่ควรมองข้าม คือ ไก่พม่าที่จะออกชน ถ้าจะให้ดีควรมีอายุไม่ต่ำกว่า 10 เดือน ถ้าช่วงอายุ 12-15 เดือน จะเหมาะที่สุด เรื่องความสดและกระดูกก็กำลังดี 8-9 เดือนอันนี้อ่อนเกินไปจะแพ้เขาได้ง่ายๆ
สรุปก็คือ เลี้ยงไก่พม่าไม่ควรหนักขมิ้นและกระเบื้อง เลี้ยงน้ำเย็นจะดีที่สุด เน้นการเตะเป้าลงนวมเป็นดีที่สุด
ไก่เชิงพม่า
1. ถอยแล้วสาด ลักษณะของชั้นเชิงชนในแบบนี้ก็คือ การก้าวถอยหลังรอให้คู่ต่อสู้เดินเข้ามา เมื่อได้จังหวะก็จะสาดแข้งเปล่าเข้าใส่โดยไม่ต้องจับ วิ่งการสาดแข้งเปล่าในลักษณะนี้ จะสร้างความกังวลให้กับคู่ต่อสู้เป็นอย่างมาก ยิ่งโดยเฉพาะไก่ที่กอดเก่งๆ เมื่อมาเจอลีลาถอยแล้วสาดอย่างนี้ยิ่งสร้างความกังวลให้อย่างมาก ลีลาก้มถอยแล้วสาดนี้นับเป็นลีลาเชิงชนสุดยอดที่เซียนไก่พม่ามักนิยมกันอย่างแพร่หลาย และพยายามอย่างยิ่งที่จะหาพม่าเชิงนี้มาครอบครอง เพราะถือว่าเป็นเชิงชนที่เยี่ยมยอดที่สุดของไก่พม่า
2. เดินแล้วสาด ในเชิงนี้จะเป็นลักษณะการก้าวเดินไปข้างหน้าพร้อมๆกับการหาจังหวะในการสาดแข้งเปล่าใส่คู่ต่อสู้โดยไม่ต้องจับ ซึ่งในเชิงนี้ค่อนข้างจะเสี่ยงกว่าเชิงแรกมาก เนื่องจากการเข้าปะทะหน้าตรงๆนั้น หากไปเจอคู่ต่อสู้ที่มีลูกสาดนำ รวมทั้งมีแข้งเปล่า และเป็นลูกผ่านพม่าที่สะสมเชิงถอยสาดเอาไว้ก็จะเจ็บตัวกับอาวุธของคู่ต่อสู้ได้ไม่น้อยทีเดียว
การก้าวเดินหน้าแล้วสาดแข้งเปล่า ผลแพ้ชนะจะออกมาอย่างไรขึ้นอยู่กับคู่ต่อสู้ด้วยเช่นกัน ในทัศนะของเซียน ไก่พม่าตัวที่เดินเข้าหามักจะเป็นฝ่ายแพ้เสียส่วนใหญ่ ลีลาเดินหน้าแล้วสาดแข้งหากจะให้ดีควรที่จะเสริมลีลาก้มต่ำแล้วส่ายหัวไปมาเข้าไปด้วย เพราะการก้มต่ำนั้นเปรียบเสมือนการซ่อนจุดเปราะบริเวณคอและหน้าเอาไว้ให้ต่ำลง รวมทั้งยังสามารถหลบหลีกได้ในบางจังหวะอีกด้วย
3. ลงต่ำแล้วสาด สำหรับเชิงชนนี้จะยืนนิ่งๆอยู่กับที่เพื่อหาจังหวะสาดแข้งใส่คู่ต่อสู้ ไก่พม่าที่มีชั้นเชิงการยืนนิ่งๆ มักจะเป็นไก่ที่ชอบใช้จังหวะสองได้ดี หากคู่ต่อสู้เข้าหลวมและเสียจังหวะเมื่อไหร่ เจ้าพม่าจะไม่ปล่อยให้พลาดจังหวะอย่างเด็ดขาด มันจะสาดแข้งคมๆเข้าใส่คู่ต่อสู้อย่างไม่ยั้งทีเดียว
4. ถอด เชิงนี้เป็นอีกเชิงหนึ่งที่ดุเดือดเผ็ดมัน เพราะเชิงถอดนี้จะเป็นเชิงที่เมื่อถูกขี่หรือกดคอแล้วไก่พม่าจะถอดชักหัวหรืชักลิ่มออกมาทำให้คู่ต่อสู้หลุดถลำลงต่ำ และในจังหวะนี้เอง ไก่พม่าก็จะจับในระยะกระชั้นชิดพร้อมกับสาดแข้งใส่อย่างดุดัน ซึ่งลีลาการชักลิ่มเป็นการพลิกสถานการณ์ที่รวดเร็วจากการที่โดนกดคุมคออยู่ มาเป็นการชักคอออกแล้วจับหูนอกโดยที่คู่ต่อสู้ไม่ทันระวังตัว
ลีลาการถอด(ชักลิ่ม)แล้วจับหูนอกตีนี้ บางครั้งอาจจะได้พบไก่พม่าบางตัวเข้ากอดและเข้าปีกมัดเป็นเหมือนกัน นั่นเท่ากับลบล้างความเชื่อที่ว่าไก่พม่ามัดไม่เป็น แต่อย่างไรก็ตามน้ำหนักในเชิงนี้ไม่ค่อยจะหนักหน่วงหรือเห็นผลเร็วนัก เนื่องจากจะเป็นการตีในลักษณะหันข้างเสียมากกว่า
5. ม้าล่อ ในเชิงนี้เป็นเชิงพม่าม้าล่อโดยจะวิ่งวนไปรอบๆสังเวียนเพื่อให้คู่ต่อสู้วิ่งตาม จนเมื่อได้ระยะและได้จังหวะแล้วก็จะหันกลับมาสาดแข้งใส่คู่ต่อสู้ จากนั้นก็จะวิ่งต่อ หรือถ้าหันกลับมาสาดแล้วดูท่าทางคู่ต่อสู้มีอาการ ก็จะพันตูต่อกรเพื่อพิชิตศึกทันที ลีลาม้าล่อนี้หากตีคู่ต่อสู้ไม่อยู่ในยกต้นๆจึงมักจะพ่ายแพ้ในยกท้ายๆเสมอ
สำหรับเซียนไก่ที่ต้องการนำไก่ชนของไทยเข้าชนกับไก่พม่านั้น การอ่านเชิงพม่าให้ขาดนั้นเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะช่วยในการตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ในทุกครั้งที่ทำการเปรียบไก่ คู่ต่อสู้มักจะยอมให้เราจับตัวไก่ได้ และในขณะที่คู่ต่อสู้เผลอนั้น เราสามารถจะทดสอบได้ว่าพม่าตัวนั้นๆเป็นไก่เชิงอะไร คือหลังจากที่จับตัวไก่จนพอใจแล้ว ให้ปล่อยไก่พม่ายืนอย่างสบายๆโดยให้หันหน้าเข้าหาเราแล้วหันท้ายเข้าหาเจ้าของ(กันเจ้าของสังเกตเห็น) จากนั้นก็จับไปที่ลำคอส่วนล่างไกล้ๆสามเหลี่ยมของไก่แล้วบีบเบาๆอย่าให้ไก่เจ็บจนตื่น ไก่พม่าเป็นไก่ที่มี สัญชาตญาณป่าค่อนข้างสูง เมื่อเราบีบที่ลำคอเขา เขาจะแสดงธรรมชาติของเขาออกมาทันทีว่าเป็นไก่เชิงไหน โดยสังเกตได้จากอาการที่เขาแสดงออกดังนี้
1. หากเราบีบแล้ว เขาดึงตัวถอยหลัง แสดงว่าเป็นไก่เชิงถอย
2. หากเราบีบแล้ว เขาหดคอลงแต่ไม่ถอย แสดงว่าเป็นไก่ยืนแล้วสาดจังหวะสอง
3. หากเราบีบแล้ว เขาดึงคอกลับและเบี่ยงตัวออกด้านข้าง แสดงว่าเป็นไก่ถอดหัวดี
4. หากเราบีบแล้ว เขาเสือกหัวขึ้นมา แสดงว่าเป็นไก่กอดเชิงบน
5. หากเราบีบแล้ว เขาขืนตัวดันไปข้างหน้า แสดงว่าเป็นไก่ชอบเดินเข้าหา
www.kaichon.com