ความสำคัญ ไก่พื้นเมืองตามประวัติศาสตร์ มีรายงานไว้ว่าเป็นไก่ที่มีต้นกำเนิดมาจากไก่ป่าในทวีปเอเชีย โดยเฉพาะในแถบประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่นไทย มาเลเซีย และจีนตอนใต้ ซึ่งมนุษย์ได้นำมาเป็นสัตว์เลี้ยงเมื่อประมาณ 3,000 ปีก่อน หลังจากที่มนุษย์นำไก่มาเลี้ยง ไก่และมนุษย์ดำรงชีวิตแบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและคน ไก่อาศัยการเลี้ยงดูและการป้องกันอันตรายจากมนุษย์ ในขณะที่มนุษย์อาศัยไก่และไข่เป็นอาหาร เป็นการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เรียกว่าเป็นขบวนการวิวัฒนาการของสัตว์และมนุษย์ให้อยู่ร่วมกันอย่างต่อเนื่อง การวิวัฒนาการของไก่เป็นไปตามวิถีชีวิตของมนุษย์เจ้าของซึ่งก็ขึ้นอยู่กับธรรมชาติ บางปีเกิดภัยธรรมชาติรุนแรง สัตว์เลี้ยงตายลง หรือมีโรคระบาดรุนแรง ไก่จะตายมากแต่ไม่ตายหมด จะมีเหลือให้ขยายพันธุ์จำนวนหนึ่ง ซึ่งโดยปกติแล้วจะเหลือต่ำกว่า 10% ซึ่งจำนวนนี้จะขยายพันธุ์เพิ่มจำนวน ตัวที่แข็งแรงทนทานเท่านั้นจึงจะอยู่รอดจึงเป็นการคัดเลือกโดยธรรมชาติจนเป็นไก่พื้นเมืองสืบทอดมาให้เราได้ใช้ประโยชน์ถึงทุกวันนี้ ดังนั้น ไก่พื้นเมืองจึงเป็นมรดกวัฒนธรรมและเทคโนโลยีชีวภาพที่หลากหลาย เป็นทรัพย์สินภูมิปัญญาของชาวบ้านโดยแท้ ชาวบ้านจดจำและเข้าใจการอยู่ร่วมกันระหว่างคนและไก่พื้นเมืองควบคู่กันตลอดมา ส่วนใหญ่แล้วคนจะอาศัยไก่มากกว่าไก่อาศัยคน คือ ไก่สามารถคุ้ยเขี่ยหากินเองได้ตามธรรมชาติ ส่วนคนเมื่อไม่มีอาหารและไม่มีเงินใช้เล็กๆ น้อยๆ ก็จะต้องอาศัยไก่เป็นผู้ให้ ดังนั้น ไก่พื้นเมืองจึงเป็นไก่ที่วิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงพันธุ์มาโดยอาศัยพื้นฐานของธรรมชาติเป็นหลัก จึงทำให้ไก่พื้นเมืองมีหลากหลายสายพันธุ์ แต่ละพันธุ์ก็จะมีจุดเด่นเป็นคุณสมบัติเฉพาะตัว เข่น ความต้านทานโรคและแมลง สามารถเติบโตและขยายพันธุ์ภายใต้สภาพแวดล้อมการเลี้ยงดูของเกษตรกรในชนบทโดยเฉพาะรายย่อย จึงเหมาะที่จะทำการอนุรักษ์และพัฒนาใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน