ไก่ชนตามตำราพระนเรศวร ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เนื่องจากเป็นไก่ที่มีความสวยงามมีความโดดเด่นในเรื่องของสีขน อีกทั้งมันยังถูกเลี้ยงไว้เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ผู้เลี้ยงอีกด้วย มาดูความน่าสนใจของไก่ชนพันธุ์นี้กัน ว่าจะเป็นอย่างไร
ความเป็นมาของไก่ชนนเรศวร
เป็นไก่ชนตามประวัติศาสตร์ ซึ่งปรากฏอยู่ในพงศาวดาร เมื่อครั้งที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงพำนักอยู่ในกรุงหงสาวดี ประเทศพม่า ทรงนำไก่เหลืองหางขาวไปจากเมืองพิษณุโลก เพื่อนำไปชนกับไก่ของพระมหาอุปราชา เป็นไก่ชนที่มีลักษณะพิเศษมีความเฉลียวฉลาดในการต่อสู้ จึงชนชนะ จนได้รับสมญานามว่า “เหลืองหางขาว ไก่เจ้าเลี้ยง” สำนักงานปศุสัตว์ จังหวัดพิษณุโลก ได้ศึกษาค้นคว้า และทำการส่งเสริมเผยแพร่ โดยจัดประกวดครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2533 ในนามของ “ไก่ชนนเรศวร” และปี 2534 ได้จัดตั้งชมรมอนุรักษ์ ไก่ชนนเรศวรขึ้นที่ ตำบลหัวรอ อำเภอเมืองพิษณุโลก โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณ จากองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก จนถึงปี 2542 ได้จัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาไก่ชนนเรศวร ขึ้นทุกอำเภอ รวม 12 กลุ่มเพื่ออนุรักษ์และพัฒนาสายพันธุ์ให้คงอยู่ เป็นสมบัติคู่ชาติตลอดไป
ไก่ชนนเรศวร เป็นไก่ชนสายพันธุ์เหลืองหางขาว และเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปแล้วว่า มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่จังหวัดพิษณุโลก ปัจจุบันเป็นสัตว์อัตลักษณ์ ของจังหวัดพิษณุโลก และเป็นสมบัติของชาติไทย ที่ได้รับความสนใจกันอย่างแพร่หลาย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ดังนั้นเพื่อให้การอนุรักษ์และพัฒนาสายพันธุ์ ไก่ชนนเรศวร เป็นไปในทิศทางเดียวกันคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์และลักษณะประจำพันธุ์ที่แน่นอน สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดพิษณุโลก จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานพันธุ์ไก่ชนนเรศวรขึ้นเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2542
ไก่เหลืองหางขาวที่มีลักษณะตามตำราพระนเรศวร
น้าหงอนบาง กลางหงอนสูง สร้อยระย้า หน้านกยูง อกชัน หวั้นชิด หงอนบิด ปากร่อง พัดเจ็ด ปีกสิบเอ็ด เกล็ดยี่สิบสอง ถือเป็นไก่ชั้นเยี่ยม
- หน้าหงอนบาง กลางหงอนสูง สร้อยระย้า หน้านกยูง อกชัน หวั้นชิด หงอนบิด ปากร่อง พัดเจ็ด ปีกสิบเอ็ด เกล็ดยี่สิบสอง ถือเป็นไก่ชั้นเยี่ยม
- อกชัน คือ ยืนยืดอกหรือเชิดอก อันจะทำให้ด้านท้ายของตัวลาดลงต่ำ แสดงถึงความเป็นไก่อันธพาล
- หวั้นชิด คือ ข่วงหางอยู่ชิดหรือติดกับบั้นท้ายตรงบริเวณเชิงกราน ทำให้ช่องว่างระหว่างบั้นท้ายกับเชิงกรานแคบแสดงถึงความอึดอดทน
- หงอนบิด คือ หงอนไม่ตรงบิดเอียงไปด้านข้างเล็กน้อยแต่ไม่ไช่พับเอียงมากเกินไปเพราะจะเป็นลักษณะที่ไม่ดี แต่จะเชื่อกันว่าหงอนที่เอียงบิดไปทางขวาเป็นไก่ที่มีฝีมือตามตำราแต่หากเอียงทางซ้ายจะไม่นิยม
- ปากร่อง คือ ที่บริเวณจงอยปาก จะมีร่องเป็นร่องลึกเข้าไปทั้งสองข้างออกจากรูจมูก อันแสดงถึงความเข้มแข็งไม่หลุดหักง่าย
- พัดเจ็ด คือ ที่บริเวณจะพบขนที่เรียกว่าขนพัดข้างละ 7 เส้น
- ปีกสิบเอ็ด คือ ขนปีกท่อนนอกมีข้างละ 11 เส้น ช่วยในการบินได้ดี
- เกล็ดยี่สิบสอง คือ เกล็ดที่นิ้วกลางนับรวมกันได้ 22 เกล็ด จัดเป็นไก่มีสกุลตีเจ็บตีหนัก รุนแรง
ลักษณะของไก่เหลืองหางขาว
ไก่ชนนเรศวรเพศผู้หรือพ่อพันธุ์
- ลักษณะพระเจ้าห้าพระองค์ คือ มีหย่อมกระ (มีสีขาวแซม) 5 แห่ง ที่หัว(บริเวณท้ายเสนียด) หัวปีกทั้งสองข้างและข้อขาทั้งสองข้าง โบราณถือว่ามีเทพรักษาถึง 5 พระองค์ จึงถือเป็นไก่สกุลสูง หรือ “พระยาไก่”
- สร้อยคอ สร้อยหลัง สร้อยปีก มีสีเหลืองทองอร่าม เรียกว่า “เหลืองประภัสสร”
- มีสร้อยใต้ปีก(ข้างลำตัว) เรียก “สร้อยสังวาลย์” สีเดียวกับสร้อยคอและสร้อยหลัง
- มีขนใต้โคนหางขลิบเหลือง เหนือทวารหนัก ประสานกันแหลมขึ้นไปที่โคนหางคล้ายดอกบัว เรียก “บัวคว่ำ – บัวหงาย”
- ก้านขนสร้อยและหางกะลวย มีสีขาวปลอด
- ขนหู มีสามสี ได้แก่ สีเหลือง สีขาว และสีดำ
- ฝาปิดจมูก มีสีขาว
- เกล็ดสำคัญ ซึ่งเป็นเกล็ดพิฆาต เช่น เสือซ่อนเล็บ เหน็บใน ไชบาดาล ผลาญศัตรู เป็นต้น
ไก่ชนนเรศวร เพศเมีย
ลักษณะทั่วไปตามสายพันธุ์เหลืองหางขาว ลักษณะเด่นประจำพันธุ์ใกล้เคียงกับเพศผู้ หรือ พ่อพันธุ์ คือ ขนพื้นตัวมีสีดำตลอด มีจุดหย่อมกระขาว 5 จุด ลักษณะพระเจ้าห้าพระองค์ ที่หัว หัวปีกทั้งสอง และข้อขาทั้งสอง ปาก ตา แข้ง และ เล็บสีขาวอมเหลืองแบบงาช้าง ปากมีร่องน้ำทั้งสองข้าง ปีกในดำ ปีกนอกและปีกไชแซมขาว บางตัวจะปรากฏสร้อยคอสีเหลืองสดใส หรือมีเดือยเช่นเพศผู้