ต้นกล้วยหมัก 5 วัน สูตรลดต้นทุน แม่ไก่อารมณ์ดี
หลายปีที่ผ่านมา สำนักงานปศุสัตว์อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย ได้เข้ามาสนับสนุนองค์ความรู้เพื่อพัฒนาระบบการเลี้ยงไก่ไข่ของเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่ จากเดิมที่เคยเน้นการเลี้ยงบนกรงตับ มาเป็นการเลี้ยงแม่ไก่อารมณ์ดี ที่ใช้ระบบการปล่อยอิสระ เน้นการใช้วัตถุดิบท้องถิ่นเป็นอาหารสัตว์ เพื่อลดต้นทุนในการเลี้ยง กลายเป็นรูปแบบการเลี้ยงที่ได้รับความสนใจจากเกษตรกรในพื้นที่เป็นอย่างมาก เพราะลดต้นทุนโรงเรือน มีพื้นที่ปล่อยลานแบบอิสระ แม่ไก่มีความสุข สามารถให้ไข่ได้ มาตรฐานและปลอดสารตกค้าง เกษตรกรมีไข่ไว้บริโภคในครัวเรือน เหลือบริโภคสามารถจำหน่ายในชุมชน
เลี้ยงอย่างไร
สูตรการเลี้ยงแม่ไก่อารมณ์ดีนั้น แนะนำให้เกษตรกรเลี้ยง ในอัตรา เพศผู้ 1 ตัว ต่อเพศเมีย 5 ตัว โดยเลี้ยงไก่ 5 ตัว ต่อตารางเมตร รอบโรงเรือนมีพื้นที่ปล่อยลานแบบอิสระ 10-15 ตารางเมตร ต่อตัว มีรั้วสามารถป้องกันศัตรูและสัตว์พาหะได้ แม่ไก่จะเริ่มให้ไข่ฟองแรก เมื่ออายุ 4 เดือน 6 วัน
ดูแลสุขภาพสัตว์
แนะนำให้เกษตรกรทำวัคซีนป้องกันโรคระบาดที่สำคัญในไก่ไข่ และการถ่ายพยาธิ รวมทั้งหมั่นสังเกตอาการ สุขภาพของสัตว์ปีก เสริมวิตามิน เกลือแร่ การจัดการสิ่งแวดล้อมที่อยู่ของสัตว์ปีกให้เหมาะสม เช่น อย่าให้ลมโกรก ให้อยู่ในที่อุณหภูมิพอเหมาะ จัดให้มีเล้าหรือโรงเรือนสำหรับสัตว์ปีกนอนในตอนกลางคืน สามารถป้องกันแดด ฝน ลม และพาหะนำโรคระบาดสัตว์ได้ อีกทั้งยังง่ายต่อการดูแลสุขภาพสัตว์ปีกอีกด้วย และต้องใช้หลักความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) ในการป้องกันเชื้อโรคเข้ามาในฟาร์ม เช่น การใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรค การควบคุมคนหรือยานพาหนะเข้า-ออกฟาร์ม การมีเล้าหรือโรงเรือนเพื่อป้องกันพาหะนำโรค เป็นต้น
สูตรอาหาร ใช้ต้นกล้วยหมัก
สำนักงานปศุสัตว์อำเภอศรีเชียงใหม่แนะนำให้เกษตรกรจัดการอาหารสัตว์ โดยใช้ต้นกล้วยหมักเป็นหลักร่วมกับวัตถุดิบอาหารพลังงานอื่นในท้องถิ่น โดยให้อาหาร 2 มื้อ เช้า-เย็น มีการปล่อยลานตามธรรมชาติโดยอิสระ เสริมเศษผัก เศษอาหาร ผลไม้สุกตามฤดูกาล
สำหรับ สูตรอาหารต้นกล้วยหมัก 5 วัน มีส่วนประกอบสำคัญได้แก่ ต้นกล้วยสับ 30 กิโลกรัมน้ำตาลทรายแดง หรือน้ำอ้อย 1 กิโลกรัม ดินแดง 2 กิโลกรัม รำหยาบ 30 กิโลกรัม เกลือ 2 ช้อนแกง ขี้วัวแห้ง 4 กิโลกรัม ปลายข้าว 1 กิโลกรัม ซึ่งอาหารสูตรนี้ มีต้นทุนค่าอาหาร เฉลี่ยกิโลกรัมละ 3.32 บาท เท่านั้น ทั้งนี้ ทางสำนักงานปศุสัตว์อำเภอศรีเชียงใหม่ ได้มีการนำอาหารหมักดังกล่าวไปตรวจสอบเปอร์เซ็นต์โปรตีน พบว่า มีเปอร์เซ็นต์โปรตีนถึง 15.3% เหมาะสำหรับใช้ ไก่ไข่ ในช่วงอายุ 3 เดือน ขึ้นไป
ปลายข้าว
ต้นกล้วยนำมาสับให้ละเอียด
ขั้นตอนการผลิต นำส่วนผสมต่างๆ มาผสมให้เข้ากัน แล้วหมักทิ้งไว้ ประมาณ 5 วัน ก็จะสามารถนำไปผสมกับวัตถุดิบอื่น เช่น อาหารข้น 14-21% โปรตีน รำ ปลายข้าว ให้กับไก่ไข่ที่เลี้ยงได้ ส่วนการนำไปใช้เลี้ยงไก่ไข่ มีสูตรแนะนำถึงสัดส่วนการใช้อาหารผสม สำหรับเกษตรกรรายย่อย ดังนี้
ระยะที่ 1 ช่วงแรกเกิด-1.5 เดือน ให้กินอาหารข้นเป็นหลัก จำนวน 10 กิโลกรัม
ระยะที่ 2 ช่วงอายุ 1.5-3 เดือน ให้กินอาหารผสมที่ส่วนผสมของอาหารข้น 6 กิโลกรัม รำ 2 กิโลกรัม ปลายข้าว 2 กิโลกรัม
ระยะที่ 3 ช่วงอายุ 3-4 เดือน ให้กินอาหารผสมที่ส่วนผสมของอาหารข้น 5 กิโลกรัม รำ 1 กิโลกรัม ปลายข้าว 1 กิโลกรัม และอาหารหมัก 1 กิโลกรัม
ระยะที่ 4 ช่วงอายุ 4-5 เดือน ให้กินอาหารผสมที่ส่วนผสมของอาหารข้น 3 กิโลกรัม รำ 1 กิโลกรัม ปลายข้าว 1 กิโลกรัม และอาหารหมัก 5 กิโลกรัม
ระยะที่ 5 ช่วงอายุ 5 เดือน จนถึงปลด ให้กินอาหารผสมที่ส่วนผสมของอาหารข้น 2 กิโลกรัม ปลายข้าว 1 กิโลกรัม และอาหารหมัก 7 กิโลกรัม
ภายหลังจากสำนักงานปศุสัตว์อำเภอศรีเชียงใหม่ได้แนะนำให้เกษตรกรเลี้ยงแม่ไก่อารมณ์ดี ที่ใช้ระบบการปล่อยอิสระดังกล่าว พบว่า มีไข่ไก่อินทรีย์ที่ไม่มีสารตกค้างสำหรับบริโภคในท้องถิ่นอย่างเพียงพอ ส่วนที่เหลือยังสามารถนำไปจำหน่ายในตลาดสีเขียวได้อีก โดยเกษตรกรสามารถไข่ไก่อินทรีย์ ไม่ต่ำกว่าฟองละ 6-8 บาท