ไก่คอล่อนโตเต็มวัย ไก่ลูกผสม”คอล่อน” อารมณ์ดี เนื้อแน่น อกใหญ่
ในอดีตการเลี้ยงไก่ในสังคมไทยนั้น ก็เพื่อเป็นแหล่งอาหารของสมาชิกในครัวเรือน
ทั้งในรูปการเก็บไข่ กินเนื้อ ตามบ้านเรือน กระทั่งต่อมาภาครัฐได้ส่งเสริมให้ชาวบ้านเลี้ยงไก่ลูกผสมขึ้น เพื่อให้ได้ไข่ดก ทนทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศและสายพันธุ์ลูกผสม “คอล่อน” เป็นหนึ่งในจำนวนนี้ นายสัตวแพทย์ทฤษดี ชาวสวนเจริญ อธิบดีกรมปศุสัตว์ บอกกับทีมงาน “หลายชีวิต” ว่า ไก่คอล่อน (Colon Chicken) เป็นไก่พื้นเมือง พบเลี้ยงกันมากใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส สายพันธุ์ดังกล่าวเกิดจากเมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศญี่ปุ่นได้นำไก่คอล่อนจากประเทศฝรั่งเศส เข้ามาเป็นอาหาร แล้วจากนั้นไก่สายพันธุ์ดังกล่าว ก็ได้มีการถูกนำไปผสมพันธุ์กับไก่พื้นเมืองของจังหวัดพัทลุง และได้แพร่พันธุ์เรื่อยมา
โดยสายพันธุ์ลูกผสมนี้เป็นประเภทเนื้อ จะมีลักษณะคล้ายไก่ชน บริเวณกระเพาะพักถึงปากไม่มีขน หรือมีขนแต่น้อย สีขน มีสีเขียวจนถึงดำ หงอนถั่ว สี ดวงตา และขนจะมีสีเดียวกัน ส่วนคอไม่มีขนและรูขุมขน แนวสันหลังเปลือย ล่อน ลักษณะหน้าอกใหญ่ เนื้อมาก ไหล่กว้าง ผิวหนังสีเหลืองหรือสีขาว แข้งเหลือง ขนน่องในเพศผู้แทบจะไม่มี เพศเมียมีบ้างเล็กน้อยมองด้านบนเป็นรูปสามเหลี่ยม สีหน้าจะมีสีชมพู ลำตัวเมื่อกางปีกจะไม่มีขน โตเต็มที่ตัวผู้หนัก 3.0-4.5 กก. สามารถทำพันธุ์ เมื่ออายุ 7-8 เดือน ส่วนเพศเมียหนัก 2.0-2.8 กก. สามารถผสมพันธุ์ได้เมื่ออายุ 5-5.5 เดือน สำหรับอัตราการไข่เฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 4-5 ชุด ชุดละ 12-15 ฟอง ทั้งนี้มีลักษณะเด่นที่การเจริญเติบโตเร็ว น้ำหนักตัวดี ทนทานต่อโรคปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีอากาศร้อน เลี้ยงลูกเก่ง อารมณ์ดี ไม่ดุร้าย เหมาะที่จะเลี้ยงรวมเป็นฝูง ในที่โล่งกว้าง ผสมกับไก่พันธุ์อื่นจะได้ลักษณะเด่นลูกออกมาเป็นคอล่อน คุณภาพซากเนื้อแน่นและนุ่มกว่าไก่พื้นเมืองทั่วไป เนื้อล่อนไม่ติดกระดูก เหมาะที่จะนำไปบริโภคปัจจุบันไก่คอล่อนมีการนำไปทดลองเลี้ยงที่ฟาร์มตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรม ราชินีนาถ บ้านครองชีพ ตำบลนาปะขอ อำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุง เพื่ออนาคตส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่เลี้ยงเป็นอาชีพเสริม และเป็นอาหารหลักในครอบครัว
แหล่งข้อมูล วิถีชีวิตเกษตรพอเพียง